วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

เมืองหลวงใหม่ของพม่า

เนปีดอว์ เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ 2 อย่างคือ Naypyitaw หรือ Naypyidaw แต่ตามหลักภาษาศาสตร์ของพม่าให้ออกเสียงว่า เนปีดอว์ มีคำแปลตรงตัวว่าราชธานี ตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน Kyatpyae ของเมืองปินมนา (Pyinmana) ในภาคมัณฑะเลย์ ปินมนาอยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ประมาณ 6 ชั่วโมงโดยทางรถยนต์ และห่างจากกรุงย่างกุ้งประมาณ 9 ชั่วโมง ในตอนแรก คนทั่วไปเรียกเนปีดอว์ว่าเมืองปินมนาเนื่องจากปินมนาอยู่ใกล้ที่สุดและยังไม่มีชื่อเป็นทางการ จนรัฐบาลพม่าได้ประกาศในวันกองทัพเมื่อ 27 มีนาคม พ.ศ. 2549 ให้เรียกว่า เนปีดอว์

เมืองปินมนาเคยเป็นฐานที่ฝึกของกองทัพบกเอกราชพม่ามาก่อน จนเมื่อญี่ปุ่นได้ยึดครองพม่าเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น กองทัพบกแห่งชาติพม่า ต่อมากองทัพบกแห่งชาติพม่าได้แปรพักตร์หันไปช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรทำสงครามกองโจรขับไล่ญี่ปุ่น ปินมนาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกองทัพพม่าในฐานะเป็นที่ซึ่งทหารพม่าได้มีชัยเหนือผู้รุกรานซึ่งเข้มแข็งกว่ามาก สิ่งนี้เป็นข้อสันนิษฐานข้อหนึ่งว่าทำไมคณะทหารผู้ปกครองจึงเลือกบริเวณเมืองนี้เป็นศูนย์บริหารราชการแห่งใหม่ของพม่า (ตามบทความของนายรัชฎา จิวาลัย ซึ่งเคยเป็นข้าราชการประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้งมาก่อน ในวารสารสราญรมย์ของกระทรวงการต่างประเทศปีที่ 63 กุมภาพันธ์ 2549 ยืนยันว่าจนบัดนี้ยังไม่มีการประกาศเป็นทางการจากรัฐบาลพม่าให้เนปีดอว์เป็นเมืองหลวง เพียงแต่แจ้งว่า เนปีดอว์เป็นศูนย์บริหารราชการแห่งใหม่เท่านั้น แต่สื่อมวลชนของพม่าซึ่งรัฐบาลพม่าควบคุมอย่างเข้มงวดนั้น ก็ได้เริ่มที่จะอ้างถึงเนปีดอว์ในฐานะเมืองหลวงแล้ว)


รัฐบาลทหารพม่าได้เริ่มโยกย้ายกระทรวงต่าง ๆ ไปยังเมืองเนปีดอว์ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2548 ในเวลา 06.37 น. ตรง และอีก 5 วันต่อมาก็ได้ทำการโยกย้ายต่อด้วยการใช้รถขนส่งทหาร 1,100 คัน บรรทุกทหาร 11 กองพล และ 11 กระทรวงไปยังเมืองเนปีดอว์อีกครั้งหนึ่ง โดยกำหนดไว้ว่ากระทรวงต่าง ๆ จะเข้าที่เข้าทางปฏิบัติงานได้ตามปกติในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2549 แต่ข้าราชการเป็นจำนวนมากก็ต้องแยกกับบุตรหลานของตนเนื่องจากไม่มีโรงเรียนเพียงพอใน บริเวณเนปีดอว์ สำหรับกองบัญชาการทหารนั้นมีสัดส่วนของตนแยกไปจาก กระทรวง แต่ห้ามไม่ให้ประชาชนเข้าไปทั้งสองบริเวณ ส่วนพวกพ่อค้าแม่ค้าให้ขายของในบริเวณที่จัดไว้ให้ใกล้ ๆ กลุ่มกระทรวง นอกจากนี้ก็ยังมีการกวดขันการใช้โทรศัพท์มือถือและโทรทัศน์ดาวเทียมด้วย


ไม่มีผู้ใดทราบถึงเหตุผลที่แท้จริงของการย้ายเมืองหลวงของพม่า และก็ได้คาดเดากันไปต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่า เนปีดอว์มีทำเลยุทธศาสตร์ดีกว่ากรุงย่างกุ้งเพราะอยู่ในตอนกึ่งกลางของประเทศและอยู่ห่างจากฝั่งทะเล พม่าเคยใช้เนปีดอว์เอาชัยชนะเหนือผู้รุกรานที่เข้มแข็งกว่าเช่นญี่ปุ่นมาได้ และหากจะถูกโจมตีอีกครั้งหนึ่งด้วยกองกำลังที่เหนือกว่าเช่นของสหรัฐก็จะสามารถเอาชัยชนะได้อีก อย่างไรก็ตาม นายพลอาวุโสตาน ฉ่วย ก็ได้ปฏิเสธทฤษฎีนี้ไปแล้วว่าไม่มีมูลความจริง อีกกลุ่มหนึ่งก็ให้เหตุผลว่าเนปีดอว์อยู่ใกล้กับรัฐไทยใหญ่ คะฉิ่น และกะเหรี่ยง มากกว่าย่างกุ้งซึ่งมีการสู้รบกับฝ่ายทหารพม่าอยู่เนือง ๆ และจะสามารถดูแลความสงบเรียบร้อยได้ดีกว่าถ้ากองบัญชาการทหารจะตั้งอยู่ในบริเวณนี้ อีกกลุ่มหนึ่งก็เห็นว่ารัฐบาลพม่ามีความเกรงกลัวการลุกฮือของประชาชนในเมืองใหญ่เป็นอย่างมากและเห็นว่าจะทำการปราบปรามได้สะดวกกว่าจากเนปีดอว์ กลุ่มสุดท้ายกล่าวว่าสาเหตุที่แท้จริงมาจากคำพยากรณ์ของหมอดูส่วนตัวของนายพลตาน ฉ่วยซึ่งทำนายว่า หากไม่มีการย้ายเมืองหลวง รัฐบาลพม่าจะต้องล่มสลายในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2549 สรุปก็คือยังไม่มีผู้ใดทราบถึงเหตุผลที่แท้จริงเบื้องหลังการตัดสินใจดังกล่าว ในเรื่องนี้ คุณรัชฎา จิวาลัย ได้ให้ความเห็นไว้เช่นกัน รวมทั้งข้อมูลในเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเนปีดอว์ ซึ่งผมขอนำบางตอนมาลงดังต่อไปนี้


ในประวัติศาสตร์ของพม่า การย้ายราชธานีเกิดขึ้นหลายครั้ง ในบริเวณใกล้ ๆ กับเมืองมัณฑะเลย์นั้น เคยเป็นที่ตั้งของราชธานีอาณาจักรโบราณของพม่าถึง 4 แห่ง ได้แก่ สะกาย อังวะ อมรปุระ และมัณฑะเลย์ ที่น่าสนใจก็คือการย้ายราชธานีจากอมรปุระไปยังมัณฑะเลย์ก็มีเหตุผลที่คล้าย ๆ กับการย้ายศูนย์ราชการไปที่เมืองเนปีดอว์ คือ มีทั้งเหตุผลความเชื่อทางไสยศาสตร์ และเหตุผลในทางยุทธศาสตร์ และความมั่นคง กล่าวคือในสมัยพระเจ้ามินดง เริ่มมีเรือกำปั่นไฟของอังกฤษแล่นตามแม่น้ำอิระวดีขึ้นไปถึงเมืองอังวะเมืองหลวงเก่าและกรุงอมร ปุระซึ่งเป็นราชธานีในขณะนั้น พระเจ้ามินดงเห็นว่าการมีราชธานีตั้งอยู่ริมแม่น้ำเป็นการเปิดโอกาสให้ฝรั่งเอาปืนใหญ่ใส่เรือกลไฟไปโจมตีได้โดยง่าย จึงได้สั่งให้ย้ายราชธานีไปยังเมืองมัณฑะเลย์ซึ่งอยู่บนเนินเขาและอยู่ห่างจากแม่น้ำ ในชั้นนี้ คงยังไม่อาจสรุปได้ว่า พลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย จะมีแนวคิดคล้าย ๆ พระเจ้า มินดงหรือไม่


หลายคนสงสัยว่ารัฐบาลพม่านำเงินงบประมาณจากที่ใดมาใช้ในการพัฒนาเนปีดอว์ ความช่วยเหลือบางส่วนอาจมาจากจีน แต่ส่วนใหญ่ทางการพม่าจะให้สัมปทานแก่เอกชนพม่าในการพัฒนาเมืองเนปีดอว์ บริษัทเอกชนชั้นนำของพม่าเกือบทุกบริษัทจะถูกทาบทาม (หรืออาจจะเรียกว่าถูกเกณฑ์) ให้ไปลงทุนก่อสร้างสาธารณูปโภค โดยจะได้รับผลตอบแทนจากทางการพม่าในรูปแบบ ต่าง ๆ อาทิ การให้ที่ดินและอาคารที่ทำการของสถานที่ราชการในกรุงย่างกุ้ง ผู้เขียนได้ทราบจากเพื่อนนักธุรกิจชาวพม่าคนหนึ่งว่า ทางการพม่าประสงค์จะให้มีการสร้างสนามกอล์ฟที่เนปีดอว์อย่างน้อย 2-3 แห่ง (ข่าวบางกระแสแจ้งว่าอาจมากถึง 6 แห่ง) โดยขอให้เอกชนพม่าหนึ่งบริษัทลงทุนสร้างสนามกอล์ฟหนึ่งแห่ง ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าจะให้ใบอนุญาตนำเข้ารถยนต์เป็นการตอบแทน เชื่อกันว่า เอกชนพม่ารายหนึ่งซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้นำพม่าได้ลงทุนสร้างสนามกอล์ฟโดยแลกกับใบอนุญาตนำเข้า และขณะนี้กำลังเตรียมที่จะสั่งรถโรลสรอยซ์เข้ามาในพม่า (ส่วนที่ว่าทำไมถึงสามารถจะสั่งรถประเภทนี้เข้าไปในพม่าได้ทั้ง ๆ ที่สหรัฐประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่านั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งคงจะไม่กล่าวในที่นี้ แต่ก็คงพอชี้ให้เห็นว่าการเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ดังนั้นจึงไม่น่าจะแปลกใจหากเราจะพบเห็นสิ่งที่เรียกว่า “มือถือสากปากถือศีล” ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ)


ปัจจุบันทางการพม่ายังไม่ได้เชิญคณะทูตไปเยี่ยมชมเนปีดอว์แต่ได้เชิญผู้ช่วยทูตทหารไปร่วมงานวันกองทัพพม่าที่เนปีดอว์เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2549 นอกจากนี้ยังมีเอกอัครราชทูตบางประเทศ เช่น รัสเซีย และจีน เท่านั้นที่ได้มีโอกาสไปเนปีดอว์ เนื่องจากมีคณะผู้แทนระดับสูงของทั้งสองประเทศไปเยือนพม่าและต้องเข้าเยี่ยมคารวะผู้นำระดับสูงของพม่า (พลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย ประธาน SPDC หรือรองพลเอกอาวุโสหม่อง เอ) ที่เนปีดอว์


หากรัฐบาลพม่าประกาศให้เนปีดอว์เป็นเมืองหลวงอย่างเป็นทางการแล้ว คงจะส่งผลกระทบต่อสถานทูตต่าง ๆ ในกรุงย่างกุ้ง โดยเฉพาะไทย สิงคโปร์ และสหรัฐที่เพิ่งสร้างสถานทูตใหม่เสร็จไม่นาน ในชั้นนี้ ทราบมาว่า อินเดียและจีนตั้งใจที่จะไปเปิดสถานเอกอัครราชทูตที่เนปีดอว์ โดยทั้งสองประเทศจะย้ายสถานกงสุลใหญ่ของตนซึ่งอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ในขณะนี้ไปรวมกับสถานเอกอัครราชทูตแห่งใหม่ที่เนปีดอว์และปรับสถานะของสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงย่างกุ้งให้เป็นสถานกงสุลใหญ่ ขณะที่ประเทศตะวันตกมีแนวโน้มที่จะคงสถานเอกอัครราชทูตไว้ที่กรุงย่างกุ้งและเปิดที่ทำการส่วนแยกที่เนปีดอว์


ทางการพม่าแจ้งคณะทูตว่า เนปีดอว์จะพร้อมให้ประเทศต่าง ๆ ไปเปิดที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตได้ในปี 2551 โดยแต่ละประเทศจะสามารถเช่าที่ดินจากรัฐบาลพม่าได้ประเทศละ 5 เอเคอร์ และหากประเทศใดประสงค์จะตั้งสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารด้วย รัฐบาลพม่าจะพิจารณาให้เช่าที่ดินเพิ่มอีก 3 เอเคอร์.

สาโรจน์ ชวนะวิรัช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น