วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

สถานการณ์ความขัดแย้งทางสังคมและวัฒนธรรมระดับโลกในยุคโลกาภิวัตน์

ในสถานการณ์โลกเช่นปัจจุบันที่การสื่อสารไร้พรมแดนเป็นผลให้ประชาชนจำนวนมากในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกรับเอาแบบอย่างทางวัฒนธรรมจากสังคมตะวันตกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต ตั้งแต่เรื่องปลีกย่อยในชีวิตประจำวันไปจนถึงประเด็นสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาวัฒนธรรมและอุดมการณ์ทางการเมือง อันเป็นเหตุให้เกิดความหลากหลายเชิงวัฒนธรรมและอัตลักษณ์แบบผสมผสานขึ้นบนพื้นฐานขององค์ประกอบทางวัฒนธรรมมากกว่า 1 ชุด อาจเรียกได้ว่า “วัฒนธรรมโลก” ซึ่งมีรากฐานการนำเสนอประเด็นมาจากแวดวงนักคิดตะวันตก เรื่อง “โลกาภิวัตน์” เป็นกระบวนการทางสังคมที่มีอายุเก่าแก่กว่าอายุของ “กระบวนการทำให้โลกเป็นแบบตะวันตก”

“กระบวนการโลกาภิวัตน์” ช่วยผลักดันการเผยแพร่และวัฒนธรรมภูตผี จิตวิญญาณดั้งเดิม ในสังคมชนเผ่าจำนวนมากในเอเชียตะวันออก ขณะเดียวกับที่สังคมเหล่านั้นยังรับการเผยแพร่ความคิดแบบขงจื๊อจากจีน เป็นต้น

การผสมผสานทางวัฒนธรรมที่มีรายละเอียดทั้งในแง่ลำดับเวลา และขอบเขตพื้นที่กลุ่มย่อยภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เป็นสภาพที่เกิดขึ้นก่อนกระแสกระบวนการทำให้เป็นตะวันตกจะถูกผลักดันโดยชาวยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่ามกลางการดำเนินนโยบายการค้าเสรี ภายใต้หลักการ “พาณิชยนิยม” (Mereantilism) หลังคริสต์ศตวรรษที่ 16

ข้างต้นกล่าวถึงกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่มีทั้งคุณและโทษต่อมนุษยชาติ เพราะเมื่อพูดถึง “โลกาภิวัตน์” เราจะนึกถึงคอมพิวเตอร์ที่สามารถติดต่อกับทุกมุมโลก อินเตอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของการสื่อสาร และการทำธุรกิจ โลกาภิวัตน์กลายสัญลักษณ์ของการเป็นประเทศเจริญ เศรษฐกิจเติบโตดี การสื่อสารรวดเร็ว ค้าขายกับต่างประเทศคล่อง มีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวมาก สามารถขายที่ดิน / ขายหุ้นกันได้กำไรงาม ในขณะที่เมื่อยุคฟองสบู่แตก เงินทองพากันไหลออกนอกประเทศ ประเทศเป็นหนี้ล้นพ้นตัว ข้าวของขายไม่ออก ธุรกิจ บริษัทเล็กต้องหยุดกิจการ คนว่างงานเพิ่มขึ้น ห้างยักษ์อย่างแมคโคร เทสโกโลตัส บิ๊กซี พากันมายึดหัวหาดกิจการค้าปลีก ร้านค้าปลีกไทยขายไม่ได้ ทั้งหมดก็เป็นเพราะโลกาภิวัตน์อีกเช่นกัน

“ลัทธิการครอบโลก” หมายถึง “การใช้ความเหนือกว่าของทุนเทคโนโลยี การบริหารจัดการ และอิทธิพลทางการเมือง ผ่านกลไกต่าง ๆ ขององค์กรระหว่างประเทศมาบีบให้ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของประเทศที่มีก้าวหน้ากว่าภายใต้แนวคิด “การค้าเสรี” ประชาชนผู้ด้อยโอกาสทั้งโลกกำลังตกเป็นเหยื่อของลัทธินี้ โดยรัฐบาล และกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศกำลังพัฒนาได้กลายเป็นเครื่องมืออย่างไม่รู้ตัวหรือด้วยความสมยอม

ช่วง 20 กว่าปีแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ประมาณ พ.ศ. 2488-2512) เศรษฐกิจของประเทศทุนนิยมตะวันตกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการจัดบริการสวัสดิการสังคมให้แก่ประชาชนเพิ่มขึ้น โดยรัฐเป็นผู้ดำเนินการ แม้ประเทศที่ได้รับเอกราชใหม่ ๆ ในโลกที่สามก็ยังมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นในช่วงนั้น

ในปี ค.ศ.1960 ญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 4% ของโลก ขณะที่อเมริกาเหนือมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 37% ในขณะที่ปัจจุบันมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 24% และช่วงทศวรรษที่ 90 มากกว่าครึ่งหนึ่งของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกได้เกิดขึ้นมาในทวีปเอเชีย

จนกระทั่งต้นทศวรรษที่ 1970 (ประมาณปี พ.ศ. 2513-2518) ลัทธิทุนนิยมก็เริ่มประสบปัญหาใหญ่ 2 ประการ คือ

ประการแรก โรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าออกมาล้นหลามเกินกว่าความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ เรียกว่า มี “การผลิตเกินขนาด”
ประการที่สอง บริษัทใหญ่ ๆ หลายบริษัทสะสมกำไรได้เป็นจำนวนมหาศาล แต่ไม่มีที่ทางให้ลงทุนได้ เรียกว่ามี “การสะสมทุนเกินขนาด” เมื่อเศรษฐกิจตะวันตกประสบปัญหาการผลิตเกินขนาด และการสะสมทุนเกินขนาด นายทุนในประเทศตะวันตกจึงต้องมองหาลู่ทางอื่นที่จะทำกำไร ซึ่งก็ทำได้หลายวิธี เช่น นายทุนที่ยังคงผลิตสินค้าและบริการต่อไปและจะมองหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อขายสินค้าเป็นเหตุให้บริษัทจำนวนมากย้ายฐานการผลิตบางส่วนมาตั้งในทวีปเอเชียและละตินอเมริกา ซึ่งมีแรงงานราคาต่ำกว่า และเป็นตลาดใหม่ที่กำลังขยายตัว สามารถรองรับสินค้าที่ผลิตเพิ่มขึ้นได้ หรือการใช้วิธีว่าจ้างบริษัทในประเทศอื่นให้ผลิตชิ้นส่วนบางอย่างของสินค้าที่สามารถผลิตได้ถูกที่สุดแล้วขนส่งข้ามประเทศมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์เต็มรูปในอีกประเทศหนึ่ง นายทุนต้องพยายามทำกำไรโดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานที่มีอยู่ หรือนายทุนคนเลิกทำการผลิตแล้วหันไปใช้วิธีการเอากำไรที่สะสมได้ไปปล่อยเงินกู้เพื่อกินดอกเบี้ย และไป “เก็งกำไร” โดยการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และซื้อขายเงินตรา เพื่อเอาผลต่างระหว่างราคาซื้อกับขายเป็นกำไร ที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตหนี้สินในประเทศเหล่านี้หลายครั้งในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งวิกฤตการเงินในเอเชียที่เริ่มต้นที่ประเทศไทย เมื่อปี 2540 ด้วย ช่วงคริสตศตวรรษที่ 20 มีศูนย์กลางอำนาจอยู่สองทวีปที่ทรงพลังอำนาจของโลก กล่าวคือ อเมริกาเหนือและยุโรป แต่หากย้อนกลับไปในคริสตศตวรรษที่ 18-19 นั้นโลกมีศูนย์กลางอำนาจอยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น นั่นคือ ยุโรป

จนกระทั่งคริสตศตวรรษที่ 21 หรือสหัสศตวรรษใหม่กลับมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ 3 แห่งด้วยกัน คือ เอเชีย อเมริกาเหนือและยุโรป ทั้งในส่วนข่าวสารข้อมูล เทคโนโลยีและทุนซึ่งได้เคลื่อนผ่านข้ามแนวเขตพรมแดนด้วยความเร็วของช่องทางจดหมายอีเล็คทรอนิค (e-mail)

หลายคนมองว่าโลกาภิวัตน์มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้น เพราะทรัพยากรธรรมชาติของโลกมีขีดจำกัดในการรองรับและดูดซับมลภาวะที่เกิดจากการผลิตและการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทุกขณะได้ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายสนับสนุนโลกาภิวัตน์ เสนอว่า โลกาภิวัตน์มีส่วนในการแพร่กระจายของเทคโนโลยีการสื่อสาร ช่วยให้ทุกคนในโลกใกล้ชิดกันเสมือนเป็นสมาชิกของชุมชนเดียวกัน เรียกว่า “หมู่บ้านโลก” โดยยกสถิติการใช้อินเตอร์เน็ทที่เพิ่มมากขึ้น

ในประเด็นเดียวกัน ฝ่ายค้านโลกาภิวัตน์ก็แย้งว่า “หมู่บ้านโลก” ไม่สามารถเป็นจริงได้สำหรับทุกคน เพราะเทคโนโลยียังคงอยู่ในมือของคนจำนวนน้อย คนส่วนใหญ่ในโลกคือประมาณ 80% ยังไม่มีโทรศัพท์ใช้เลย และ 70% ยังไม่มีไฟฟ้าใช้อีกด้วย พร้อมกับเสนอว่าเทคโนโลยีที่ควรพัฒนาขึ้นมาควรจะมุ่งตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์และปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ แทนที่จะเป็นของเล่นฟุ่มเฟือย และเป็นเครื่องมือเพิ่มพูนอำนาจให้แก่คนรวย อุดมการณ์ตลาดเสรีจึงส่งเสริมความเป็นปัจเจกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสวงหากำไร และความสำเร็จส่วนตนของนักธุรกิจและผู้ประกอบการเป็นสำคัญ ในฐานะที่รัฐมีหน้าที่ดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตเพื่อที่ประเทศจะได้พัฒนา

บทบาทหลักของรัฐจึงอยู่ที่การส่งเสริมให้ธุรกิจทำกำไรให้มากที่สุด มาตรการด้านนโยบายที่จะสนับสนุนอุดมการณ์ตลาดเสรีที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับอุดมการณ์นี้ มีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ (1) การแปรรูปกิจการของรัฐให้เป็นของเอกชน (2) การยกเลิกระเบียบข้อบังคับ และ (3) การเปิดเสรีด้านการค้าและการเงิน มาตรการด้านนโยบายดังกล่าวได้กลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการโลกาภิวัตน์ และท้ายที่สุดประเทศที่ไม่มีอำนาจในการแข่งขันก็ตกเป็นเบี้ยล่าง / เกิดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ / ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและสังคมขึ้นทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ นั่นเอง (ยรรยง สินธุ์งาม, 2549)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น