วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

ภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมโลก

ภูมิศาสตร์ เป็นวิชาที่ศึกษาถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวโลก ทั้งที่เกิดจากทางกายภาพและเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ว่ามีการกระจายอย่างไรหรือมีความสัมพันธ์อย่างไรในพื้นที่หนึ่ง ๆ หรือมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่อย่างไรจนก่อให้เกิดการจัดรูปแบบพื้นที่และนำไปสู่การอธิบาย การวางกฎเกณฑ์ รวมทั้งเสนอหลักทฤษฎีขึ้นมาได้

นักภูมิศาสตร์อธิบายถึงรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงของที่ต่างๆ บนโลก แผนที่ และสัณฐานโลก โดยอธิบายว่ารูปแบบการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร การศึกษาภูมิศาสตร์จะทำให้เข้าใจปัญหาทางด้านกายภาพ และวัฒนธรรม ของบริเวณที่ศึกษา และสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่อยู่บนพื้นผิวโลก ทำให้สามารถวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติในภูมิภาคต่างๆของโลก อีกทั้งยังช่วยให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ อันจะเป็นพื้นฐานให้มนุษย์นำไปพัฒนาหรือดัดแปลงแก้ไขสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้ต่อไป


ประชาคมโลก
(Global Community)
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

ภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมโลก
ชูพันธุ์ ชมภูจันทร์

ลักษณะทางกายภาพของโลก

โลกเกิดจากกลุ่มก๊าซร้อนที่รวมตัวกันและกลายเป็นดาวเคราะห์ที่เป็นบริวารของดวงอาทิตย์ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 4,500 ล้านปีมาแล้ว ในช่วงแรกๆ โลกเป็นของแข็งก้อนกลมอัดกันแน่นและร้อนจัด ต่อมาจึงเย็นตัวลง เมื่อโลกเย็นตัวลงใหม่ๆ นั้น ไม่ได้มีสภาพทั่วไปดังเช่นในปัจจุบันและไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เลย โลกใช้เวลาปรับสภาพอยู่ประมาณ 3,000 ล้านปี จึงเริ่มมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เกิดขึ้น และใช้เวลาวิวัฒนาการอีกประมาณ 1,000 ล้านปี จึงได้มีสภาพแวดล้อมทั่วไปคล้ายคลึงกับที่ปรากฏในปัจจุบัน

ในสมัยโบราณ มนุษย์เคยเชื่อกันว่า โลกมีสัณฐานแบนคล้ายจานข้าว นักเดินเรือในสมัยนั้นจึงไม่กล้าเดินทางไปในมหาสมุทรไกลๆ เพราะกลัวว่าจะตกขอบโลกออกไป ต่อมามีการเดินเรือรอบโลกโดย เฟอร์ดินานด์ มาเจลแลน (Ferdinand Magellan) นักเดินเรือชาวโปรตุเกสซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าโลกมีสัณฐานกลม และในปัจจุบันมีการส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศออกไปนอกโลกในระยะไกลและถ่ายภาพโลกไว้ จากภาพถ่ายเหล่านั้นก็ปรากฏชัดว่าโลกมีสัณฐานกลม

ขนาดของโลกเมื่อวัดระยะทางในแนวเส้นศูนย์สูตรจะได้ความยาวประมาณ 12,756 กิโลเมตร และวัดในแนวขั้วโลกเหนือ-ใต้ยาวประมาณ 12,719 กิโลเมตร ทำให้โลกมีลักษณะกลมแป้นเหมือนผลส้มที่ตรงกลางป่องเล็กน้อยและขั้วโลกทั้งสองมีลักษณะแบน โลกมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลาโดยหมุนรอบตัวเองใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมงและหมุนรอบดวงอาทิตย์ด้วยความเร็ว 106,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาประมาณ 364 ¼ วัน

เมื่อพิจารณาถึงส่วนประกอบของโลกพบว่าโลกมีมีส่วนประกอบที่สำคัญอยู่ 4 ส่วนคือ

ธรณีภาค (Lithosphere) คือ แก่นโลกและเปลือกโลกส่วนที่รวมตัวเป็นของแข็ง ได้แก่ ดิน หิน แร่ธาตุ
อุทกภาค (Hydrosphere) คือ ส่วนที่เป็นของเหลวหรือพื้นน้ำที่ปกคลุมผิวโลก เช่น ทะเล มหาสมุทร รวมถึงน้ำใต้ดิน ไอน้ำในอากาศและน้ำที่เป็นน้ำแข็งขั้วโลกด้วย
บรรยากาศภาค (Atmosphere) คือ เปลือกโลกส่วนที่เป็นก๊าซอยู่เหนือผิวโลก ทำให้เกิดลักษณะภูมิอากาศ (Climate) และ ลมฟ้าอากาศ (Weather) ก๊าซต่างๆ บนโลกเรานี้ประกอบด้วยไนโตรเจนร้อยละ 78 ก๊าซออกซิเจนร้อยละ 21 และก๊าซอื่นๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ อาร์กอน ฮีเลียม อีกร้อยละ 1
ชีวภาค (Biosphere) คือ สิ่งมีชีวิตบนพื้นผิวโลกทั้งบนบก ในดิน ในน้ำ และในอากาศ เช่น มนุษย์ สัตว์ พืช


ลักษณะภูมิประเทศของโลก

บนพื้นผิวโลกประกอบไปด้วยพื้นดินและพื้นน้ำ โดยมีพื้นน้ำเป็นอาณาเขตส่วนใหญ่ของพื้นผิวโลก ได้แก่ มหาสมุทร ทะเลสาบ คลอง บึง แม่น้ำ ลำธารต่างๆ เฉพาะมหาสมุทรของโลกกินพื้นที่ประมาณสามในสี่ของพื้นผิวโลก มหาสมุทรของโลกมี 4 มหาสมุทร ได้แก่ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) ส่วนที่เป็นแผ่นดินแบ่งออกเป็น 7 ทวีป คือ เอเชีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป ออสเตรเลีย และแอนตาร์กติกา (ขั้วโลกใต้) ส่วนที่เป็นแผ่นดินนี้จะมีลักษณะภูมิประเทศแตกต่างกันไป เช่น ภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบในหุบเขา ที่ราบลุ่มน้ำ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เป็นต้น



ภูมิประเทศของทวีปเอเชีย

ทวีปเอเชียเป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีพื้นที่ประมาณ 44 ล้านตารางกิโลเมตรเป็นทวีปที่มีพื้นที่กว้างที่สุดของโลก ตั้งอยู่ทางซีกตะวันออกของโลก ดินแดนเกือบทั้งหมดอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ยกเว้นบางส่วนของหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย ทวีปเอเชียมีขนาดกว้างใหญ่มาก ทำให้ตอนกลางของทวีปห่างจากมหาสมุทรมาก เป็นเหตุให้อิทธิพลของพื้นน้ำไม่สามารถแผ่เข้าไปได้ไกลถึงภายในทวีป ประกอบกับตอนกลางของทวีปมีเทือกเขาสูงขวางกั้นกำบังลมทะเลที่จะพัดเข้าสู่ภายในทวีป ทำให้บริเวณตั้งแต่ตะวันตกเฉียงใต้จนถึงตอนกลางของทวีปมีพื้นที่แห้งแล้งเป็นบริเวณกว้าง

ลักษณะภูมิประเทศของทวีปเอเชีย แบ่งออกได้ดังนี้

เขตเทือกเขาสูงตอนกลางทวีป เป็นเทือกเขาเกิดใหม่ เกิดจากการโก่งตัวของเปลือกโลก มีความสูงมาก มีหลายเทือกเขา ซึ่งจุดรวมเรียกว่า ปามีร์นอต (Pamir Knot) หมายถึง หลังคาโลก (The Roof of the World) ได้แก่ เทือกเขาหิมาลัย มียอดเอเวอร์เรสต์ สูงที่สุดในโลก 8,848 เมตร และทอดตัวออกไปหลายทิศทาง ตอนเหนือของเทือกเขาหิมาลัย เช่น เทือกเขาคุนลุน ทางตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เทือกเขาเทียนซาน เทือกเขาอัลไต ทางตะวันตก เช่น เทือกเขาฮินดูกูซ ส่วนทางใต้ เช่น เทือกเขาสุไลมาน

เขตที่ราบสูง บริเวณตอนกลางทวีปมีที่ราบสูงอยู่ระหว่างเทือกเขา เช่น ที่ราบสูงยูนนานและที่ราบสูงทิเบตในประเทศจีนเป็นที่ราบสูงมีขนาดใหญ่และสูงที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีเขตที่ราบสูงตอนใต้ เช่น ที่ราบสูงเดคคาน ในประเทศอินเดีย และเขตที่ราบสูงตะวันตกเฉียงใต้ เช่น ที่ราบสูงอิหร่านในประเทศอิหร่านและอัฟกานิสถาน ที่ราบสูงอาหรับ ในประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่ราบสูงอนาโตเลีย ในประเทศตุรกี

เขตที่ราบต่ำตอนเหนือ เป็นที่ราบดินตะกอนที่เกิดจากแม่น้ำอ๊อบ เยนิเซ และลีนา ไหลผ่าน เรียกว่า ที่ราบไซบีเรีย มีอาณาเขตกว้างขวาง แต่มีคนอาศัยอยู่น้อยเพราะอยู่ในเขตภูมิอากาศหนาวมาก ทำการเพาะปลูกไม่ได้ ในฤดูหนาวน้ำในแม่น้ำจะเป็นน้ำแข็ง

เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ เป็นที่ราบต่ำเกิดจากตะกอน มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก นับเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่ยิ่งใหญ่ของทวีปเอเชีย เช่น ในเอเชียตะวันออก มีแม่น้ำฮวงโห แม่น้ำแยงซีเกียง (จีน) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแม่น้ำแดง (เวียดนาม) แม่น้ำเจ้าพระยา (ไทย) แม่น้ำอิระวดี (พม่า) แม่น้ำโขง (คาบสมุทรอินโดจีน) ในเอเชียใต้ มีแม่น้ำสินธุ แม่น้ำคงคา แม่น้ำพรหมบุตร (อินเดีย) ในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ มีแม่น้ำไทกรีส - ยูเฟรตีส (อิรัก)

เขตหมู่เกาะรูปโค้ง หรือเขตหมู่เกาะภูเขาไฟ เป็นแนวต่อมาจากปลายตะวันออกสุดของเทือกเขาหิมาลัยที่โค้งลงมาทางใต้ เป็นแนวเทือกเขาอาระกันโยมาในพม่าแล้วหายลงไปในทะเล บางส่วนโผล่ขึ้นมาเป็นหมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ หมู่เกาะอินโดนีเซีย หมู่เกาะฟิลิปปินส์ จนถึงหมู่เกาะญี่ปุ่น เป็นแนวภูเขารุ่นใหม่ จึงเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟ



ภูมิประเทศของทวีปยุโรป

ยุโรปเป็นทวีปที่มีพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในซีกโลกเหนือค่อนไปทางขั้วโลกเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 10 ล้านตารางกิโลเมตร มีชายฝั่งทะเลที่เว้าแหว่งมาก ทำให้ได้รับอิทธิพลทะเลเกือบทั้งหมด จึงเป็นทวีปที่ไม่มีลักษณะแห้งแล้งแบบทะเลทราย

ลักษณะภูมิประเทศ แบ่งออกเป็น 4 เขต ได้แก่

เขตหินเก่าทางตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเทือกเขาที่มีอายุเก่าแก่ ซึ่งถูกธารน้ำแข็งกัดเซาะจนสึกกร่อนจนมีความสูงไม่มากนัก ได้แก่ เทือกเขาเชอเลน ในคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย และเทือกเขาแกรมเพียนในสกอตแลนด์ และชายฝั่งทะเลมีลักษณะเว้าแหว่งเป็นอ่าวขนาดเล็กที่มีน้ำลึก เรียกว่า “ฟยอร์ด” (Fjord) บริเวณชายฝั่งของนอร์เวย์และสกอตแลนด์

เขตที่ราบใหญ่ภาคกลาง เป็นที่ราบขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป ตั้งแต่พื้นที่ทางตอนใต้ของ สหราชอาณาจักร ทางตะวันตกของฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ภาคเหนือของเยอรมนี โปแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย ฟินแลนด์ และพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัสเซีย มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำเซน แม่น้ำไรน์ แม่น้ำเอลเบ แม่น้ำโอเดอร์และแม่น้ำวิสทูลา

เขตที่ราบสูงภาคกลาง เกิดจากการสึกกร่อนพังทลายของภูเขาจนกลายเป็นที่ราบสูง ได้แก่ ที่ราบสูงเมเซตา ทางตอนกลางของคาบสมุทรไอบีเรีย ที่ราบสูงตอนกลางของฝรั่งเศส เรียกว่า มัสซิฟซองตรัล (Massif Central) ที่ราบสูงทางตอนกลางและตอนใต้ของเยอรมนี เรียกว่า แบล็กฟอร์เรสต์ (Black Forest) และที่ราบสูงโบฮีเมีย (Bohenia) ระหว่างพรมแดนเยอรมนีกับสาธารณรัฐเช็กกับสาธารณารัฐสโลวัก

เขตภูเขาหินใหม่ทางภาคใต้ เกิดจากการโก่งตัวของหินเปลือกโลกจนกลายเป็นเทือกเขาสูงขนาดใหญ่ เป็นเขตยังมีแผ่นดินไหว ภูเขาระเบิด เช่น เทือกเขาแอลป์ในฝรั่งเศส เทือกเขาแอปเพนไนน์ ในคาบสมุทรอิตาลี เทือกเขาคอเคซัส ในรัสเซีย

ภูมิประเทศของทวีปอเมริกาเหนือ

อเมริกาเหนือเป็นทวีปที่ตั้งอยู่ทางซีกโลกเหนือ และเป็นดินแดนที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็น ที่ราบอันกว้างใหญ่ ที่มีขนาดเนื้อที่ประมาณ 24.2 ล้านตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากทวีปเอเชียและแอฟริกา รูปร่างของทวีปอเมริกาเหนือคล้ายรูปสามเหลี่ยมหัวกลับ คือมีฐานกว้างอยู่ทางเหนือและปลายแหลมอยู่ทางใต้ ความกว้างของทวีปตั้งแต่ช่องแคบเบริงถึงเกาะนิวฟันด์แลนด์ประมาณ 4,828 กิโลเมตร และส่วนที่แคบที่สุดที่คอคอดปานามา กว้างประมาณ 50 กิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ แบ่งออกเป็น 4 เขต ได้แก่

เขตหินเก่าแคนาดา (Canadian Shield) ได้แก่ พื้นที่บริเวณรอบๆ อ่าวฮัดสันทางตอนเหนือของทวีปลงมาถึงทะเลสาบทั้ง 5 ประกอบด้วยหินเปลือกโลกที่มีอายุเก่าแก่และผ่านการสึกกร่อนมานาน ลักษณะของพื้นที่จึงเป็นที่ราบเกือบทั้งหมดและอยู่ในเขตอากาศหนาวจัด ทางตอนเหนือมีเกาะใหญ่น้อยมากมาย พื้นที่ส่วนใหญ่มีธารน้ำแข็ง ปกคลุม มีประชากรอาศัยอยู่เบาบางและมีจำนวนน้อยมาก

เขตเทือกเขาภาคตะวันออก มีอาณาเขตตั้งแต่เกาะนิวฟันด์แลนด์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแคนาดาลงมาถึงภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยเทือกเขาเตี้ยๆ ที่ผ่านการสึกกร่อนมานาน ได้แก่ เทือกเขาแอปปาเลเชียน

เขตเทือกเขาสูงภาคตะวันตก เป็นเขตเทือกเขาสูงที่สลับซับซ้อนกันหลายแนวที่เกิดจากการโก่งตัวของเปลือกโลกที่มีอายุน้อย จึงเป็นเขตที่มักเกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหว ได้แก่ เทือกเขาอะแลสกา มียอดเขาสูงสุดในทวีปอเมริกาเหนือ ชื่อ ยอดเขาแมกคินลีย์ (6,190 เมตร) เทือกเขารอกกี้ เทือกเขาแคสเกต เทือกเขาเซียราเนวาดา เทือกเขา เซียรามาเดร และเทือกเขาโคสต์ ระหว่างเทือกเขาสูงเหล่ามีที่ราบสูงระหว่างเทือกเขา โดยเฉพาะที่ราบสูงโคโลราโด มีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นโกรกธาร หุบเหวลึก มีหน้าผา สูงชัน ซึ่งเป็นผลมาจากการไหลของแม่น้ำโคโลราโด ทำให้เกิดการกัดเซาะดินและ ชั้นหิน เกิดเป็นภูมิประเทศที่สวยงาม ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ แกรนด์แคนยอน (Grand Canyon) ในมลรัฐแอริโซนา

เขตที่ราบภาคกลาง เป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีอาณาเขตตั้งแต่มหาสมุทรอาร์กติกทางตอนเหนือลงมาจนถึงอ่าวเม็กซิโกทางตอนใต้ และพื้นที่ระหว่างเทือกเขารอกกีกับเทือกเขาแอปปาเลเชียน ลักษณะโดยทั่วไปเป็นที่ราบลูกคลื่น คือ บริเวณที่สูงจะอยู่ตอนเหนือ บริเวณตอนกลางเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ
ภูมิประเทศของทวีปอเมริกาใต้

ทวีปอเมริกาใต้มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางซีกโลกใต้ มีพื้นที่ประมาณ 17.8 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลกรองจากทวีปเอเชีย แอฟริกาและอเมริกาเหนือ มีรูปร่างคล้ายคลึงกับทวีปอเมริกาเหนือ คือ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีฐานกว้างอยู่ทางทิศเหนือ และมียอดแหลมอยู่ทางทิศใต้ เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลายชนิด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูง มีที่ราบเฉพาะเขตชายฝั่งและลุ่มแม่น้ำ ภูมิอากาศมีทั้งเขตร้อนและเขตอบอุ่น เป็นที่ทวีปที่มีความแตกต่างกันทางด้านกายภาพมากแห่งหนึ่งของโลก กล่าวคือ เป็นดินแดนที่มีระบบภูเขาซึ่งมีแนวต่อเนื่องกันยาวที่สุดในโลก และมีที่ราบลุ่มแม่น้ำที่ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นที่กว้างขวางที่สุดในโลก ขณะที่ดินแดนบางส่วนของทวีปนี้มีอากาศแห้งแล้งมาก

ลักษณะภูมิประเทศ แบ่งออกเป็น 3 เขต ได้แก่

เขตเทือกเขาทางตะวันตก ซึ่งติดต่อกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก มีเทือกเขาแอนดีส ซึ่งเป็นเทือกเขาที่มีภูเขาไฟที่ยังทรงพลังอยู่หลายลูก ทอดเป็นแนวยาวขนานกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก จากเหนือสุดลงมาใต้สุด แนวเทือกเขานี้มีความยาวประมาณ 7,200 กิโลเมตร นับเป็นเทือกเขาที่ยาวที่สุดในโลก และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแม่น้ำอเมซอน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญในทวีปอเมริกาใต้ มียอดเขาที่สูงที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ชื่อ อะคองคากัว สูงประมาณ 6,960 เมตรในประเทศอาร์เจนตินา ในเขตเทือกเขาแอนดีสช่วงที่เทือกเขาแยกตัวออกเป็น 2 แนว มีที่ราบสูงโบลิเวีย ซึ่งเป็นที่ราบสูงขนาดใหญ่ที่มีความสูงเป็นที่สองของโลกรองจากที่ราบสูงทิเบต และบนที่ราบสูงมีทะเลสาบสำคัญ ชื่อทะเลสาบติติกากา เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่ใช้เดินเรือได้ อยู่สูงที่สุดในโลก (3,810 เมตร)

เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ ประกอบด้วย
(1) ที่ราบลุ่มแม่น้ำโอริโนโคอยู่ทางตอนเหนือสุด มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาแอนดีส ไหลผ่านที่ราบในเขตประเทศโคลัมเบีย และเวเนซูเอลา ลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก
(2) ที่ราบลุ่มแม่น้ำอเมซอนเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่ใหญ่และมีประมาณน้ำมากที่สุดของโลก มีเนื้อที่ประมาณ 7 ล้านกิโลเมตร มีความยาวประมาณ 6,437 กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ 2 รองจากแม่น้ำไนล์ เป็นแม่น้ำที่ได้รับน้ำจากหลายสาขาที่มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาแอนดีส และ
(3) ที่ราบลุ่มแม่น้ำปารานา-ปารากวัย-อุรุกวัย อยู่ทางใต้ของที่ราบลุ่มแม่น้ำอเมซอน ในเขตประเทศปารากวัย อุรุกวัยและอาร์เจนตินา

เขตที่ราบสูงภาคตะวันออก มีที่ราบสูงบราซิล อยู่ทางด้านตะวันออกของทวีปในเขตประเทศบราซิล เป็นที่ราบสูงที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่มาก นอกจากนี้ยังมีที่ราบสูงกิอานา อยู่ในเขตประเทศเวเนซุเอลา เฟรนซ์เกียนา ซรินาเม กายอานาและภาคเหนือของประเทศบราซิล ที่ราบสูงโตกรอสโซ ในเขตประเทศบราซิลและโบลิเวีย และที่ราบสูงปาตาโกเนียทางตอนใต้ของประเทศอาร์เจนตินา

ภูมิประเทศของทวีปแอฟริกา

แอฟริกาเป็นทวีปใหญ่มีเส้นศูนย์สูตรผ่านกลางทวีป ทำให้ครึ่งหนึ่งของทวีปแอฟริกาอยู่ทางซีกโลกเหนือและอีกครึ่งหนึ่งอยู่ทางซีกโลกใต้ มีเนื้อที่ประมาณ 30 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากทวีปเอเชีย สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่สูง พื้นที่เป็นที่ราบมีอยู่น้อยมาก ทางตอนเหนือและตอนใต้มีภูมิอากาศแห้งแล้งเป็นทะเลทราย ส่วนภาคกลางเป็นเขตป่าดิบชื้น

ลักษณะภูมิประเทศแบ่งออกเป็น 4 เขต

เขตที่ราบสูงและเทือกเขาทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ อยู่ในเขตประเทศโมร็อกโก แอลจีเรียและตูนิเซีย คือ เทือกเขาแอตลาส

เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ แอฟริกามีที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญ เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำไนล์ เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีบริเวณแคบๆ อยู่ในเขตประเทศซูดานและอียิปต์ มีความยาวที่สุดในโลก คือ 6,695 กิโลเมตร เกิดจากที่สูงและภูเขาทางตะวันออกของทวีป ไหลผ่านที่ราบสูงและทะเลทรายสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางเหนือ และที่ราบลุ่มแม่น้ำคองโก อยู่ทางตอนกลางทวีปในเขตประเทศคองโก และซาอีร์ มีพื้นที่กว้างขวางมาก มีความยาวเป็นลำดับที่ 2 ของทวีปแอฟริกา ไหลผ่านทะเลสาบ ที่ลุ่ม ที่ราบสูงหลายแห่ง จึงมีเกาะแก่งและน้ำตกมากมาย

เขตที่ราบสูงและภูเขาสูง ทางภาคตะวันออกเป็นเขตที่มีความสูงมาก ได้แก่ ที่ราบสูงเอธิโอเปีย และที่ราบสูงแอฟริกาตะวันออก นอกจากนี้ยังมีภูเขาไฟทั้งที่ยังคุกรุ่นอยู่ เช่น ยอดเขาคิลิมานจาโร เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในแอฟริกา อยู่ในเขตประเทศแทนซาเนีย (5,870 เมตร) มีทะเลสาบอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ทะเลสาบวิกตอเรีย ทะเลสาบแทนแกนยิกา ส่วนทางภาคใต้ ประกอบด้วยที่ราบสูงกว้างเกือบ 1,300 กิโลเมตร จากทางตะวันตกถึงตะวันออก เป็นที่ราบสูงหินแกรนิต เรียกว่า เดอะแรนด์ (The Rand) หรือ วิตวอเตอร์สแรนด์ (Witwatersrand) เป็นแหล่งผลิตแร่ทองคำที่สำคัญของโลก

เขตที่ราบสูงภาคตะวันตก เป็นที่ราบกว้างใหญ่มีอาณาเขตตั้งแต่ทะเลทรายสะฮาราถึงอ่าวกินี มีพื้นที่ผิวปกคลุมด้วยหิน กรวด ปูน ทราย และดินตะกอน

ภูมิประเทศของทวีปออสเตรเลีย

ทวีปออสเตรเลียอยู่ทางซีกโลกใต้และบางคนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนมหาสมุทร หรือที่เรียกกันว่า โอเชียเนีย (Oceania) หมายถึง ดินแดนที่เป็นหมู่เกาะต่างๆ ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ฟิจิ นิวแคลีโดเนีย วานูอาตู ซามัวตะวันตก หมู่เกาะโซโลมอน ฯลฯ ทวีปออสเตรเลียซึ่งเป็นทวีปที่มีขนาดเล็กที่สุด เนื้อที่ราว 7.7 ล้านตารางกิโลเมตร เล็กกว่าทวีปเอเชียถึง 6 เท่า

สภาพพื้นที่ของประเทศออสเตรเลีย แบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่

เขตที่สูงทางภาคตะวันออก (Eastern Highland) เป็นเขตที่มีเทือกเขาสูงวางตัวจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ขนานกับชายฝั่งตะวันออก

เขตที่ราบภาคกลาง (Central Plain) มีลักษณะเป็นที่ราบต่ำ มีพื้นที่ ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ และเป็นแหล่งที่มีน้ำบาดาลมาที่สุดของประเทศ

เขตที่ราบสูงภาคตะวันตก (Western Plateau) เป็นเขตที่สูงภาคตะวันตก ซึ่งมีพื้นที่มากกว่าครึ่งทวีป ประกอบด้วยที่ราบชายฝั่งแคบๆ และที่สูงเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีภูมิประเทศที่เป็นเขตทะเลทรายอยู่หลายแห่ง เช่น ทะเลทราย เกรตแซนดี ทะเลทรายกิบสัน ทะเลทรายเกรตวิกตอเรีย

ทางชายฝั่งตะวันออกของรัฐควีนส์แลนด์มีแนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก ที่วางตัวขนานกับชายฝั่งเรียกว่า เกรท แบริเออร์ ริฟ (Great Barrier Reef) วางตัวขนานและห่างจากชายฝั่งประมาณ 40-200 กิโลเมิตร และยาวประมาณ 2,000 กิโลเมตร ส่วนภูมิประเทศของดินแดนที่เป็นหมู่เกาะต่างๆ โอเชียเนียส่วนใหญ่เป็นเกาะและพืดหินปะการัง กระทั่งแผ่นดินเกิดการยกตัว นอกจากนี้ ยังมีที่เป็นภูเขาไฟ เทือกเขาขรุขระทุรกันดาร ที่ราบแคบๆ และป่าทึบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น