วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

ระบบกฎหมายของโลก

ปัจจุบันวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของสังคมโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและคอมพิวเตอร์ ควบคู่กับการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศทำให้เกิดการปรับปนทางด้านวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของมนุษย์ ระหว่างวัฒนธรรมของ ชาติพันธุ์เดิมกับวัฒนธรรมของชาติพันธุ์อื่น และเมื่อสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ย่อมเกิดความขัดแย้งในการดำรงชีพของมนุษย์ทั้งหลายในสังคมโลก ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ร่วมกันของสังคมเพื่อวางระเบียบความประพฤติของมนุษย์ให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุขได้

กฎหมายถือว่าเป็นระเบียบและกฎเกณฑ์ที่สังคมใช้ในการสร้างความสงบเรียบร้อยและ ศีลธรรมอันดีงามแก่สังคมมนุษย์ ดังนั้นในบทนี้จึงเสนอถึงระบบกฎหมายของโลกที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ในปัจจุบันและความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับสังคม



กฎหมายกับสังคม

สังคมเป็นที่รวมของคนหมู่มากอาจมีทั้งคนดีและคนชั่วปะปนกันอยู่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการวางระเบียบหรือกฎเกณฑ์แห่งความประพฤติของมนุษย์ในสังคมเพื่อให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุข ระเบียบหรือกฎเกณฑ์เหล่านี้มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน ได้แก่ ศีลธรรม ศาสนา จารีตประเพณีและกฎหมาย

กฎหมาย คือ กฎเกณฑ์ที่กำหนดความประพฤติของบุคคลในสังคมซึ่งบุคคลจะต้องปฏิบัติตามหรือควรจะปฏิบัติตาม มิฉะนั้นจะได้รับผลร้ายหรือไม่ได้รับผลดีที่เป็นสภาพบังคับโดยเจ้าหน้าที่ในระบบกฎหมาย ลักษณะของกฎหมายในปัจจุบัน สามารถจำแนกลักษณะของกฎหมายได้ 4 ประการ คือ

กฎหมายต้องมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ “กฎเกณฑ์” (Norm) หมายความว่ากฎหมายต้องเป็นข้อบังคับที่เป็นมาตรฐาน (Standard) ที่ใช้วัดและใช้กำหนดความประพฤติของสมาชิกของสังคมได้ว่าถูกหรือผิด ทำได้หรือทำไม่ได้ ตัวอย่างกฎเกณฑ์ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 บัญญัติว่า “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตผู้นั้น กระทำความผิดฐาน ลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกพักบาท” บทบัญญัตินี้เป็นข้อกำหนดความประพฤติของมนุษย์ว่า การลักทรัพย์ของผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่ผิดไม่สมควรกระทำ เป็นต้น
กฎหมายต้องกำหนดความประพฤติของบุคคล ความประพฤติ (Behavior) ได้แก่ การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายภายใต้การควบคุมของจิตใจ ความประพฤติของมนุษย์ที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายนั้นต้องประกอบไปด้วยเงื่อนไข 2 ประการคือ
- ต้องมีการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย
- การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวนั้น กระทำภายใต้การควบคุมของจิตใจ
หากแม้มีการเคลื่อนไหวร่างกายแต่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจ ตามกฎหมายก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำของมนุษย์ที่จะต้องรับผิดตามกฎหมาย เช่น การกระทำโดยละเมอ การกระทำโดยตื่นเต้นตกใจ เป็นต้น ส่วนการไม่เคลื่อนไหวร่างกายที่อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจ เช่น การที่แม่นิ่งเฉยเสียไม่ยอมให้นมหรืออาหารให้แก่ลูกทารก ทำให้ลูกเสียชีวิต เป็นต้น
กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ สภาพบังคับ (Sanction) ของกฎหมาย คือมาตรการกำหนดผลของการกระทำตามกฎหมายหรือฝ่าฝืนไม่ยอมกระทำตามกฎหมาย ซึ่งมีทั้งสภาพบังคับที่เป็นผลร้าย เช่น การลงโทษทางอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามี 5 สถาน คือ
1.ประหารชีวิต
2.จำคุก
3.กักขัง
4.ปรับ
5.ริบทรัพย์สิน
หรือการลงโทษทางแพ่ง เช่น การให้ส่งมอบทรัพย์สิน หรือการยึดทรัพย์สินของจำเลยนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ เป็นต้น หรือสภาพบังคับที่เป็นผลดีหากทำตามที่กฎหมายกำหนด เช่น รัฐลดภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลที่ทำธุรกิจตามที่รัฐกำหนด เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วคนมักเข้าใจว่ากฎหมายมีสภาพบังคับที่เป็นผลร้ายเท่านั้น
กฎหมายต้องมีกระบวนการที่แน่นอน จากการที่กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ซึ่งสภาพบังคับของกฎหมายนั้นจะต้องมีกระบวนการที่แน่นอนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ การบังคับใช้กฎหมายก็ต้องกระทำโดยรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐสมัยใหม่จะไม่ยอมให้มีการบังคับกฎหมายโดยประชาชน เพราะจะทำให้คนที่แข็งแรงกว่าใช้กำลังบังคับคนที่อ่อนแอกว่า ซึ่งจะทำให้สังคมวุ่นวาย กระบวนการบังคับให้กฎหมายที่รวมศูนย์อยู่ที่รัฐนี้กระทำ โดยผ่านองค์กรต่าง ๆ เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล และ ราชทัณฑ์ เป็นต้น
กฎหมายกับศีลธรรม

ศีลธรรม คือ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ภายในจิตใจของมนุษย์จะมีความรู้สึกผิดชอบ มีสติปัญญาที่สามารถพิจารณาได้ว่าเมื่อได้ทำอะไรไปบุคคลอื่นอาจจะไม่ยินดีไม่ยินยอมอาจจะต่อสู้ ขัดขวางหรือมีการแก้แค้นได้ มนุษย์เราก็จะต้องระมัดระวังไม่กระทำในสิ่งที่อาจถูกคนอื่นตอบโต้หรืออาจจะถูกตำหนิ ติเตียนได้ ความรู้สึกระมัดระวังเหล่านี้จะเกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์เองว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำที่เราเรียกว่า ศีลธรรม

กฎหมายกับศีลธรรมมีความแตกต่างกันดังนี้

กฎหมายเป็นข้อบังคับของรัฐ แต่ศีลธรรมเป็นความรู้สึกที่เกิดจากจิตใจของมนุษย์แต่ละคน
ข้อบังคับของกฎหมายกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นส่วนใหญ่ ส่วนศีลธรรมนั้นมิได้มีการกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด
กฎหมายกำหนดความประพฤติภายนอกของมนุษย์ที่แสดงออกมาให้เห็น แต่ศีลธรรมเป็นเพียงแต่คิดในทางที่ไม่ชอบก็ผิดศีลธรรมแล้ว
กฎหมายนั้น ผู้ฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษ แต่ศีลธรรมนั้นขึ้นอยู่กับความรู้สึกนึกคิดของคนๆ นั้นโดยเฉพาะ โดยจะกระทบกระเทือนจิตใจของเขามากน้อยเพียงใดเท่านั้น
กฎหมายกับศาสนา

ศาสนา คือ กฎข้อบังคับที่ศาสดาของแต่ละศาสนากำหนดขึ้น เพื่อให้มนุษย์ที่นับถือหรือศรัทธาในศาสนานั้นมีความเชื่อถือและบังคับตนเองให้ประพฤติปฏิบัติแต่ในสิ่งที่ดีและให้ละเว้นไม่ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นความชั่ว เช่น ศาสนาพุทธ มีศีล 5 ห้ามมิให้ฆ่าสัตว์ มิให้ลักทรัพย์ มิให้ประพฤติผิดในกาม มิให้พูดปด และมิให้ดื่มน้ำเมา เป็นต้น

กฎหมายกับศาสนามีความแตกต่างกัน คือ ในทางกฎหมายนั้น ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนก็จะมีสภาพบังคับ (Sanction) เกิดขึ้นทันที เช่น ถ้าฆ่าคนตาย ก็จะถูกจำคุกตลอดชีวิต เป็นต้น ส่วนทางด้านศาสนานั้นไม่มีสภาพบังคับไว้แน่นอน แต่หากผู้ใดฝ่าฝืนข้อบังคับทางศาสนามักจะถูกสังคมที่นับถือศาสนานั้นๆ รังเกียจไม่คบหาสมาคมด้วย

กฎหมายกับจารีตประเพณี

จารีตประเพณี คือ ระเบียบแบบแผนความประพฤติของมนุษย์ที่มนุษย์ยอมรับนับถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน โดยปกติแล้วประเพณีนั้นเป็นสิ่งที่มุ่งถึงการกระทำภายนอกของมนุษย์เป็นกฎเกณฑ์ที่บังคับพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมา จารีตประเพณีนั้นอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น การที่พบบุคคลอื่น อาจจะมีการทักทายกัน หรือการที่เข้าไปในวัด ในโบสถ์ จะต้องถอดรองเท้า หรือจารีตประเพณีในเรื่องของการแต่งงาน ในเรื่องของการหมั้น อย่างของไทยมีการที่จะต้องไป สู่ขอจากฝ่ายหญิง มีขันหมาก มีสินสอด มีของหมั้นไปให้ฝ่ายหญิงก็ถือว่าเป็นจารีตประเพณีอย่างหนึ่ง

กฎหมายกับจารีตประเพณีมีความแตกต่างกันดังนี้

กฎหมายเป็นข้อบังคับของรัฐ แต่จารีตประเพณีเป็นข้อบังคับของชนชั้นใดชั้นหนึ่งหรืออาชีพใดอาชีพหนึ่งเท่านั้น
การกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ผู้กระทำจะมีความผิดและถูกลงโทษ แต่การกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนจารีตประเพณีจะได้รับเพียงการติเตียนจากสังคมเท่านั้น
กฎหมายเป็นข้อกำหนดความประพฤติของมนุษย์เพียงบางอย่างเท่านั้น แต่จารีตประเพณีครอบคลุมการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งหมด
ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับศีลธรรม ศาสนา และจารีตประเพณี มีหลายประการด้วยกัน แต่กฎหมายและจารีตประเพณีต่างก็เป็นกฎเกณฑ์ที่จัดระเบียบของสังคมเหมือนกัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สังคมมีความสงบสุข ซึ่งกฎหมายอาจมีลักษณะแตกต่างจากฎเกณฑ์อื่นอยู่บ้างตรงที่กฎหมายมีโทษที่ค่อนข้างรุนแรงและเด็ดขาดกว่า สามารถนำมาบังคับใช้ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมได้ดีกว่า นอกจากนั้นแล้วกฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่อาจสามารถเกิดขึ้นเองได้เหมือนกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แต่กฎหมายมีจุดกำเนิดหรือที่มาของกฎหมายจากศีลธรรม ศาสนา และจารีตประเพณี ในเรื่องของศีลธรรมที่เรานำมาใช้เป็นที่มาของกฎหมาย เช่น การที่สามีภริยาไม่มีความซื่อสัตย์ต่อกัน โดยภริยาไปมีชู้ซึ่งเป็นเรื่องผิดศีลธรรม กฎหมายก็อาจจะบัญญัติถึงผลของการมีชู้ว่าให้สามีฟ้องหย่าจากภรรยาได้เป็นต้น สำหรับศาสนานั้นก็อาจจะมีข้อห้ามของศาสนาที่นำเอามาบัญญัติไว้ในกฎหมาย เช่น ศาสนาพุทธ การห้ามลักทรัพย์ที่มีอยู่ในศีล 5 ก็นำมาบัญญัติไว้เป็นกฎหมายได้


ระบบกฎหมายของโลก

ในการที่มนุษย์มาอยู่รวมกันจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อกำหนดความประพฤติของมนุษย์เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม กฎเกณฑ์นี้เองเรียกว่า “กฎหมาย” กฎหมายที่ใช้อยู่ในแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกันไปตามพัฒนาการของแต่ละสังคม ดังนั้นเพื่อเป็นพื้นฐานในการอยู่รวมกันในสังคมโลกจึงจำเป็นที่ต้องควรทราบถึงพัฒนาการของระบบกฎหมายที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันสามารถแบ่งระบบกฎหมายออกได้เป็น 4 ระบบ ดังนี้คือ

ระบบกฎหมายโรมาโน – เยอรมันนิค (Romano Germanic Law)
ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law)
ระบบกฎหมายสังคมนิยม (Socialist Law)
ระบบกฎหมายศาสนาและประเพณีนิยม (Religious and Traditional Law)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น