วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

ภูมิศาสตร์วัฒนธรรมโลก

แนวคิดทางภูมิศาสตร์วัฒนธรรม กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการพิจารณาพื้นที่หรือบริเวณที่มีความกลมกลืนของวัฒนธรรม ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากพื้นที่โดยรอบและสามารถแยกออกจากพื้นที่ใกล้เคียงได้ อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดวัฒนธรรมขึ้นแล้วมักจะไม่ได้เกิดอย่างโดดเดี่ยว แต่จะแพร่กระจายออกไปยังพื้นที่ชุมชนอื่นๆ ในหลายพื้นที่ เมื่อมีการยอมรับหรือมีการปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน ก็จัดได้ว่าพื้นที่นั้นมีลักษณะวัฒนธรรม (Culture Treat) ร่วมกัน

จากหนังสือเรื่อง A World Region Geography: The New Global Order ของไมเคิล แบรนด์ชอว์ (1997) ได้แบ่งภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ของโลกโดยพิจารณาถึงความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมออกเป็น 9 ภูมิภาค กล่าวคือ

1) แอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า (Sub-Sahara African)

ได้แก่พื้นที่ในทวีปแอฟริกาที่อยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า เป็นพื้นที่ที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆทั้งที่นับถือผี ศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเมื่อครั้งยังมีการค้าขายและการล่าอาณานิคมของชาวยุโรป

เขตแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่ามีพื้นที่ประมาณ 16 % ของพื้นดินของโลกและประกอบด้วยประเทศต่างๆ ถึง 48 ประเทศ กล่าวคือ กานา กาบอง กีนี กีนีบิสเซา แกมเบีย โกตดิวัวร์ คอโมโรส เคนยา เคปเวิร์ด แคเมอรูน จิบูตี ชาด ซิมบับเว ซูดาน เซเชลส์ เซาโตเมและปรินซิเป เซียร์ราลีโอน แซมเบีย โซมาเลีย โตโก แทนซาเนีย นามิเบีย ไนจีเรีย ไนเจอร์ บอตสวานา บุรุนดี บูร์กินาฟาโซ เบนิน มอริเชียส มอริเตเนีย มาดากัสการ์ มาลาวี มาลี โมซัมบิก ยูกันดา รวันดา เลโซโท ไลบีเรีย สวาซิแลนด์ สาธารณรัฐคองโก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สาธารณรัฐแอฟริกากลาง อิเควทอเรียลกินี เอธิโอเปีย เอริเทรีย แองโกลา แอฟริกาใต้ รวมประชากรของพื้นที่นี้มีประมาณ 10 % ของโลก

สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าทึบ (เช่นบริเวณลุ่มน้ำคองโกหรือบริเวณเส้นศูนย์สูตรและทางตะวันออกของเกาะมาดากัสการ์) และบางส่วนเป็นทะเลทราย (เช่นทะเลทรายกาลาฮารี) บางส่วนเป็นกึ่งทะเลทราย (เช่นบริเวณละติจูดที่ 10-20 องศาเหนือและบริเวณ 20-30 องศาใต้) บางส่วนที่เป็น ที่ราบสูง (เช่นที่ราบสูงเอธิโอเปีย)

อาชีพหลักของกลุ่มชนในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่เป็นการทำป่าไม้ การเกษตรเพื่อยังชีพหรือเกษตรกรรมพอเพียง มีการล่าสัตว์และหาของป่า บางส่วนเลี้ยงสัตว์แบบอยู่กับที่และเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อนตามทุ่งหญ้าสะวันนา มีเพียงส่วนน้อยที่ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้าทรัพยากรธรรมชาติที่มีถูกตักตวงไปโดยประเทศล่าอาณานิคมในอดีตและการสู้รบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์ จึงเป็นผลให้ประชากรส่วนใหญ่ยากจน ผลิตภัณฑ์รวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศเหล่านี้รวมกันได้เพียงประมาณ 1 % ของโลก

2) แอฟริกาเหนือและเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ (Islamic)

ได้แก่ พื้นที่ตอนบนของทวีปแอฟริกา (ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทะเลทรายซาฮาร่าและดินแดนทางเหนือที่ติดกับชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) คาบสมุทรอาหรับ ลุ่มน้ำเมโสโปเตเมีย คาบสมุทรอนาโตเลียและที่ราบสูงอิหร่าน แม้จะเป็นดินแดนที่อยู่ต่างทวีปคือทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียแต่ก็มีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมเนื่องจากประชากรเกือบทั้งหมด (ยกเว้นประเทศอิสราเอล) ต่างก็นับถือศาสนาอิสลาม จึงจัดอยู่ในเขตภูมิศาสตร์วัฒนธรรมเดียวกัน

เขตนี้มีพื้นที่ประมาณ 11% ของพื้นดินของโลก ประชากรประมาณ 7% ของประชากรโลก ประกอบด้วยประเทศต่างๆ 20 ประเทศ ได้แก่ กาตาร์ คูเวต จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย ไซปรัส ตุรกี ตูนีเซีย บาห์เรน โมร็อกโก เยเมน ลิเบีย เลบานอน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิรัก อิสราเอล อิหร่าน อียิปต์ แอลจีเรีย โอมาน

ผลิตภัณฑ์รวมประชาชาติประมาณ 3% ของโลกเพราะแม้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ที่ราบสูงและภูเขา แต่การค้นพบน้ำมันทำให้สามารถนำเงินตราเข้าประเทศไม่น้อย แหล่งน้ำมันกระจายไปตามประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศรอบอ่าวเปอร์เซีย เช่น อิหร่าน อิรัก คูเวต ซาอุดิอาราเบีย บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และประเทศที่อยู่ทางใต้ของคาบสมุทรอาหรับ เช่น โอมานและเยเมน ส่วนตอนบนของทวีปแอฟริกาก็มีแหล่งน้ำมันกระจายกันอยู่ที่แอลจีเรีย ลิเบียและอียิปต์

การอุดมไปด้วยน้ำมันในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้จึงทำให้เป็นที่ให้ความสนใจแก่ประเทศมหาอำนาจทั่วโลก การแทรกแซงทั้งทางทหาร ทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมของประเทศมหาอำนาจ ทำให้เขตนี้เป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้ง ประกอบกับการพัฒนาการเป็นประเทศของอิสราเอลโดยชาวยิว (ที่นับถือศาสนายิว) ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับดินแดนข้างเคียงมาตลอด

3) เอเชียใต้ (Indic)

คือ พื้นที่ส่วนใหญ่ของอนุทวีปอินเดียและเกาะในมหาสมุทรอินเดีย พื้นที่แถบนี้ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู (เช่นอินเดีย) อิสลาม (เช่นปากีสถานและบังกลาเทศ) และศาสนาพุทธ (เช่น ศรีลังกา) คนส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีเนื่องจากเคยอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ประเทศที่มีบทบาทสูงมากในเขตนี้คืออินเดีย ทั้งนี้เนื่องจากเป็นประเทศใหญ่และมีประชากรมาก ในอดีตอารยธรรมอินเดียได้กระจายไปอยู่ตามดินแดนต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในยุคล่าอาณานิคมอินเดียอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษ ทรัพยากรในประเทศนี้เคยนำไปสู่ความมั่งคั่งแก่อังกฤษ แต่สิ่งที่อังกฤษได้วางรากฐานไว้คือการปกครองระบอบประชาธิปไตย จนอาจกล่าวได้ว่าอินเดียเป็นประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ประชากรประมาณ 1,000 ล้านคน)

ภูมิภาคเอเชียใต้ถือว่าเป็นดินแดนที่ประชากรส่วนใหญ่ยากจนเนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติไม่เอื้ออำนวย บางพื้นที่เป็นทะเลทราย (เช่นทะเลทรายธาร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย) บางพื้นที่เป็นภูเขา(เช่นเทือกเขาหิมาลัย) บางพื้นที่เป็นที่ลุ่มเกินไป (เช่น ปากแม่น้ำคงคา) และบางพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติจากพายุไซโคลนบ่อยครั้ง(เช่น บังคลาเทศ) นอกเหนือจากธรรมชาติไม่เอื้ออำนวยแล้วการยึดมั่นในความเชื่อบางประการ เช่น การแบ่งชนชั้นวรรณะทำให้ไม่สามารถใช้ทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างเต็มความสามารถประกอบกับปัญหาเรื่องดินแดนและความแตกต่างทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม ทำให้มีความขัดแย้งดังเช่นกรณีอินเดีย (ฮินดู) กับปากีสถาน (อิสลาม) ทำให้ไม่เกิดความสงบในภูมิภาคนี้ เขตนี้ประกอบด้วยประเทศต่างๆ 8 ประเทศได้แก่ เนปาล บังกลาเทศ ปากีสถาน ภูฏาน มัลดีฟส์ ศรีลังกา อัฟกานิสถานและอินเดีย

4) เอเชียตะวันออก (Sino-Japanese & Southeast Asian)

เป็นเขตที่ได้รับอารยธรรมมาจากจีนในอดีต เป็นเขตที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ในฤดูหนาวจะแห้งแล้ง ในฤดูร้อนจะชุ่มชื้น ประชากรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำป่าไม้ การเกษตร ล่าสัตว์ หาของป่า มีไม่น้อยที่ทำการเกษตรแบบพอเพียง กลุ่มคนที่อยู่ทางตอนเหนือของจีนและมองโกเลียจะเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน ประเทศที่มีอาณาเขตติดกับทะเลจะทำการประมงโดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยและญี่ปุ่นมีศักยภาพในการทำประมงสูงมาก งานหัตถกรรมที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมก็เป็นที่ขึ้นชื่อของเขตนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไทยและอินโดนีเซีย ประเทศในเอเชียตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น โดยเฉพาะบริเวณริมฝั่งแม่น้ำแยงซี แม่น้ำซีเกียงและชายฝั่งทางตะวันออกของจีน ญี่ปุ่นจัดได้ว่าเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นสูงมาก

ประเทศในเขตนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มที่ค่อนข้างแตกต่างกัน กล่าวคือ ประกอบด้วย

กลุ่มแรก คือ กลุ่มเอเชียตะวันออกได้แก่ เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวันและมองโกเลีย
กลุ่มที่สอง ได้แก่ กลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา ไทย บรูไน สหภาพพม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์และอินโดนีเซีย
ประเทศที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจที่สำคัญในเขตนี้คือจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ จีนได้ขยับตัวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหลังจากได้มีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจมาเป็นทุนนิยมมากขึ้นแม้ว่าในทางการเมืองยังใช้ระบบรัฐบาลพรรคเดียว การที่จีนมีแผ่นดินกว้างใหญ่ (9.5 ล้านตารางกิโลเมตร) และมีจำนวนประชากรมาก (1,200 ล้านคน) จึงทำให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ให้ความสำคัญ

ส่วนเกาหลีใต้และญี่ปุ่นได้มีบทบาทเนื่องจากคนในชาติมีความเป็นชาตินิยมสูงมาก ประกอบกับได้พัฒนาประเทศไปสู่สังคมอุตสาหกรรมสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นจัดเป็นประเทศที่มีทุนสำรองเป็นเงินตราต่างประเทศสูงอันดับหนึ่งของโลก

สำหรับสิงคโปร์แม้ว่าเป็นประเทศเล็ก ประชากรน้อย (3.4 ล้านคน) แต่ได้พัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย คนเคารพกฎหมายและรัฐบาลสนับสนุนความเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเงินของภูมิภาคจึงทำให้มีบทบาทเด่นในทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

5) ยุโรปตะวันตก (European)

เป็นที่รวมของผู้นับถือศาสนาคริสต์ทั้งนิกายโรมันคาธอลิคและโปรแตสแตนท์ เป็นศูนย์กลางของระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย (อังกฤษเป็นแม่แบบของรัฐบาลในระบบรัฐสภา) ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เป็นเขตที่มีพื้นที่เพียง 3% ของพื้นดินโลก แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศรวมกันถึง 30% ของโลก ในทัศนะของชาวยุโรปเองเชื่อกันว่าชาวยุโรปมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมืองของโลกตั้งแต่สมัยกรีก โรมัน สเปน โปรตุเกสและฮอลันดา และเพิ่งมาลดบทบาทเมื่อถูกแทนที่ด้วยอเมริกาและญี่ปุ่น

สามารถแบ่งภูมิภาคยุโรปตะวันตกออกเป็น4 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มยุโรปเหนือหรือกลุ่มสแกนดิเนเวีย ได้แก่ไอซแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก
กลุ่มยุโรปกลาง ไอร์แลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซ็มเบิร์ก ลิกเตนสไตน์ วาติกัน
กลุ่มอัลไพน์ยุโรป สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรีย
กลุ่มยุโรปแถบเมดิเตอร์เรเนียน โปรตุเกส สเปน อิตาลี กรีซ อันดอร์รา โมนาโค ซานมาริโน
การรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปทั้งในเรื่องต่างๆ เช่นการใช้เงินสกุลเดียวกัน การเดินทางเข้าออกของประชาชนของประเทศสมาชิก การภาษีและเรื่องอื่นๆ เป็นความพยายามที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งให้แก่ยุโรปตะวันตกอย่างมาก และนำไปสู่การถ่วงดุลกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา จีนและญี่ปุ่น

การผลิตที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ การผลิตทางอุตสาหกรรม เนื่องจากชาวยุโรปเป็นนักประดิษฐ์คิดค้น อังกฤษได้ชื่อว่าเป็นชาติแรกที่มีการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมก่อนที่จะกระจายไปทั่วยุโรป การล่าอาณานิคมโดยประเทศยุโรปในอดีต ทำให้ประเทศเหล่านี้มีแหล่งวัตถุดิบและแหล่งตลาดระบายสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมากและถือว่าเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งในการพัฒนาไปสู่ความเข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของยุโรปตะวันตกในปัจจุบัน นอกจากนั้นยุโรปยังเป็นศูนย์กลางทางด้านวิทยาการแขนงต่างๆ ทำให้ปัญญาชนจากทั่วโลกมารับความรู้และวิทยาการเหล่านั้นไปเผยแพร่ในภูมิลำเนาของตนเอง นอกเหนือจากอุตสาหกรรมแล้ว ยุโรปตะวันตกยังมีความก้าวหน้าทางเกษตรกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกษตรเพื่อการค้า ดังจะเห็นได้จากเครื่องดื่มประเภทวิสกี้จากสก็อตแลนด์ ไวน์จากฝรั่งเศส เบียร์จากเยอรมัน ล้วนมีพื้นฐานมาจากความเข้มแข็งในการผลิตวัตถุดิบประเภทข้าวและองุ่น แม้กระทั่งเนยแข็งและนมผงจากเดนมาร์ก ล้วนมีพื้นฐานมาจากฟาร์มโคนมที่ทันสมัย นั่นเอง

6) ยุโรปตะวันออก บอลข่าน

และอดีตสหภาพโซเวียต (Slavic) หมายถึง บรรดาประเทศที่เคยได้รับอิทธิพลมาจากสหภาพโซเวียตก่อนล่มสลาย ในบรรดาประเทศต่างๆ เหล่านี้บางประเทศถึงแม้จะมีพื้นที่กว้างใหญ่ เช่น รัสเซีย เป็นต้น พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคนี้อยู่ในเขตอากาศหนาวเย็นเพาะปลูกไม่ได้ผล ประชากรจึงไม่หนาแน่น ยกเว้นส่วนที่ใกล้ยุโรปตะวันตก

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ยกเว้นบางประเทศที่เจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม (เช่นโปแลนด์ รัสเซีย ยูเครน) อย่างไรก็ตามแม้ว่าพื้นที่ของภูมิภาคนี้รวมกันแล้วจะใหญ่มากกว่ายุโรปตะวันตกถึง 4 เท่า แต่ผลิตภัณฑ์รวมภายในประเทศรวมกันแล้วกลับน้อยกว่ายุโรปตะวันตกถึง 2 เท่า

ภูมิภาคนี้ประกอบด้วยประเทศโปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ค สโลวะเกีย ฮังการี โรมาเนีย บัลกาเรีย มาซิโดเนีย คีร์กีซ สโลวิเนีย ยูโกสลาเวีย โครเอเทีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา แอลบาเนีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย เบลารุส ยูเครน จอร์เจีย คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสสถาน ทาจิกิสถาน อาเซอร์ไบจาน มอลโดวาและรัสเซีย

7) อเมริกาเหนือ (Anglo-American)

ประกอบด้วยประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เป็นดินแดนที่ได้รับการพัฒนาจากกลุ่มคนที่อพยพมาจากยุโรปเป็นส่วนใหญ่ การเป็นประเทศใหญ่ ประชากรมาก ทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย ยึดมั่นในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยทำให้ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่สำคัญของโลก เมื่อนำผลิตภัณฑ์รวมภายในประเทศของสหรัฐฯและแคนาดามารวมกันจะได้ขนาดใกล้เคียงกับของทุกประเทศในยุโรปตะวันตกรวมกัน การผลิตที่สำคัญของอเมริกาเหนือได้แก่ อุตสาหกรรม เกษตรกรรมเพื่อการค้าและป่าไม้ (ไม้เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของแคนาดา)

8) ละตินอเมริกา (Latin-American)

ได้แก่ พื้นที่บริเวณอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรอินคาและมายา (อินเดียนแดง) ต่อมาได้ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของสเปน เพราะฉะนั้นวิถีชีวิตของกลุ่มคนในแถบนี้จึงเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับยุโรปตะวันตก

ภูมิภาคละตินอเมริกาแบ่งเป็นเขตภูมิศาสตร์วัฒนธรรมย่อยได้ 6 เขต กล่าวคือ

เม็กซิโก
บราซิล
กลุ่มอเมริกากลาง ได้แก่กัวเตมาลา เบลีส เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส นิคารากัว คอสตาริกา ปานามา
กลุ่มอินเดียตะวันตก ได้แก่บาฮามาส คิวบา จาไมกา เฮติ สาธารณรัฐโดมินิกัน กายอานา ซูรินาเม เฟรนซ์เกียนา
กลุ่มเทือกเขาแอนดีสทางเหนือ ได้แก่เวเนซุเอลา โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เปรู
เขตทางใต้ของทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่โบลิเวีย ชิลี อาร์เจนตินา ปารากวัย อุรุกวัย
ประชากรส่วนใหญ่ของละตินอเมริกาจะทำการเกษตรเพื่อยังชีพ ล่าสัตว์ เก็บหาของป่า มีบางพื้นที่ที่ทำการเกษตรเพื่อการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบอาเจนตินาและทางตะวันออกของบราซิล เนื่องจากละตินอเมริกามีพื้นที่หลายระดับความสูงจึงมีการปลูกพืชหลายประเภทแตกต่างกันไป เช่นที่ความสูงไม่เกิน 900 เมตรจะปลูกพืชจำพวกยางพารา อ้อย ข้าวเจ้า โกโก้ กล้วย ที่บริเวณความสูงระหว่าง 900-1,800 เมตรจะปลูกพืชจำพวกข้าวโพด ข้าวสาลี กาแฟ และที่ความสูงเกิน 1,800 เมตรจะปลูกมันฝรั่งและข้าวบาร์เลย์ เป็นต้น

9) แปซิฟิกตอนใต้ (Austral European)

หมายถึง พื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ที่ชาวยุโรปมาตั้งถิ่นฐานหรือแสวงหาอาณานิคม ได้แก่ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และประเทศเล็กๆตามหมู่เกาะต่างๆ เช่น คิริบาส ซามัว ตองกา ตูวาลู นาอูรู ปาปัวนิวกินี ปาเลา ฟิจิ วานูอาตู สหพันธรัฐไมโครนีเซีย หมู่เกาะโซโลมอน หมู่เกาะมาร์แชลล์ รวมทั้งทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งไม่มีคนอาศัยอยู่

ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นพื้นที่ที่ชาวอังกฤษได้มาตั้งถิ่นฐานในระยะแรกและตามด้วยชาวยุโรปกลุ่มอื่น เช่น อิตาลี เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมของชุมชนจึงเป็นวัฒนธรรมยุโรป แต่อย่างไรก็ตามการที่มาตั้งอยู่ในภูมิภาคนี้ทำให้ประเทศดังกล่าวได้พยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์กับดินแดนใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศในทวีปเอเชียและหมู่เกาะต่างๆ ในแปซิฟิกใต้

ออสเตรเลียถึงแม้ว่าเป็นประเทศใหญ่ (7.6 ล้านตารางกิโลเมตร) แต่กลับมีประชากรน้อย (18.6 ล้านคน) ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย มีที่ดินที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานคือบริเวณชายฝั่งตะวันออก (บริสเบน ซิดนีย์) ตะวันออกเฉียงใต้ (เมลเบอร์น) และชายฝั่งตะวันตก (เพิร์ท) การเลี้ยงสัตว์เป็นกิจกรรมทางการเกษตรเพื่อการค้าที่สำคัญของทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ขนแกะและเนื้อแกะเป็นผลิตภัณฑ์หลักของฟาร์ม เนื่องจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นชุมชนยุโรปที่มีการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก มีความก้าวหน้าทางการศึกษาและวิทยาการ ค่าครองชีพไม่สูงและอยู่ใกล้กับเอเชีย จึงทำให้มีชาวเอเชียจำนวนมากนิยมมาศึกษาต่อในประเทศเหล่านี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น