วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อารยธรรมอินเดียโบราณ

อารยธรรมอินเดียโบราณ

ลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมสำคัญแห่งหนึ่งของโลก(๑ใน ๔ แห่ง) คือ อินเดียโบราณ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา ดังนั้นความเชื่อทั้งสองศาสนานี้จึงได้เผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆในชมพูทวีป(ทวีปเอเซียด้านตะวันออก) โดยอาศัยการเดินเรือไปตามชายฝั่งทะเลและข้ามมหาสมุทรไปยังดินแดนต่างๆในคาบมหาสมุทรอินเดียและคาบมหาสมุทรอินโดจีน
อารยธรรมของอินเดียโบราณนั้น ถือว่าการให้การศึกษานั้นคือการให้แสงสว่าง ที่มีความหมายไปถึงการช่วยให้เกิดสมรรถภาพที่จะต่อสู้กับความยากลำบาก และแก้ไขปัญหานานาประการในชีวิตให้ลุล่วงสำเร็จผลสมความปราถนา ดังนั้นการศึกษาจึงต้องสมบูรณ์โดยสามารถนำความรู้ไปใช้งานและปฏิบัติได้อย่างจริงจัง การมีความรู้เชี่ยวชาญทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ แม้จะเป็นเพียงแขนงวิชาเดียวก็ได้รับความสำเร็จได้ ด้วยเหตุที่มนุษย์มีความเชื่อว่า สังคมที่ก้าวหน้าไปได้นั้นขึ้นอยู่กับการศึกษาและถือว่าการศึกษาเป็นอภิสิทธิของชนชั้นสูงที่มีเวลาว่างและมีฐานะทางสังคมจะเข้าศึกษาได้ก็ตาม
ดังนั้นในพิธีอุปานยนะ หรือพิธีรับศิษย์เข้าเรียนในสำนักนั้น ก็มุ่งหวังที่จะเผยแพร่ความรู้นั้นให้กับกุลบุตรกุลธิดาโดยจัดเข้าไปในบทบัญญัติทางศาสนา เพื่อให้การศึกษาเกิดความเชื่อถือและปฏิบัติตามอย่างกว้างขวางและเคร่งครัด
คัมภีร์พฤหทาระณยกะอุปนิษัท ได้ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า
“ หนี้ที่มนุษย์มีต่อบิดามารดานั้นจะชำระได้มิใช่เพียงแต่โดยการมีบุตรสืบตระกูลเท่านั้น หากยังจะต้องจัดการให้บุตรเหล่านั้นได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีด้วย”
ด้วยเหตุนี้ชาวอารยันทุกคนที่อยู่ในวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์และแพทย์ จึงย่อมได้รับการศึกษาตามคัมภีร์
ภายหลัง(ประมาณพ.ศ.๕๔๔–พ.ศ.๑๕๔๔)ปรากฏว่ากษัตริย์และแพทย์ได้ห่างจากการประกอบพิธีอุปานยนะอย่างแต่ก่อน จึงเป็นเหตุให้พราหมณ์ได้รับการศึกษาจนมีความรู้ดีกว่า และได้มีการบัญญัติให้เป็นคำสั่งสอนทางศาสนาว่า การสอนวิชาหรือการเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้อื่นนั้นเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ ผู้เป็นพราหมณ์เท่านั้นควรจะได้ทำหน้าที่สอนโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ หาไม่แล้วสังคมจะประนามอย่างแรง ถึงกับเลิกคบหาสมาคมและเลิกอำนวยความช่วยเหลือสิ้นทุกประการ
เพื่อให้พราหมณ์มีอาชีพเป็นครูบาอาจารย์และเป็นการส่งเสริมให้เกิดศักดิ์ศรีและความสนใจในการศึกษาของประชาชน คัมภีร์ต่างๆทั้งทางศาสนาและวัฒนธรรมได้ชักชวนให้รัฐและสังคมได้ดูแลให้ความเกื้อกูลอย่างเต็มที่แก่ผู้มีอาชีพสอนหนังสือหรือให้ความรู้แก่ผู้อื่น ทำให้ครูบาอาจารย์ได้รับการยกย่องอย่างสูงในสังคม โดยเฉพาะพราหมณ์ นั้นในคัมภีร์ยาชญวลกย สมฤติ บรรพที่ ๓ ได้กล่าวว่า
“การลืมวิชาที่ได้เล่าเรียนมา มีโทษเป็นบาปเท่ากับฆ่าเพื่อน หรือฆ่าพราหมณ์คนหนึ่ง”
ในคัมภีร์ศาสนานั้นระบุให้พราหมณ์ทุกคนถือเป็นหน้าที่ในชีวิตตน ที่จะต้องเผยแพร่วิชาความรู้ที่ตนได้เล่าเรียนมา จะบิดพริ้วหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นในสำนักเรียน ที่เรียกว่า มัฐ นั้นจึงเกิดขึ้นในอารามของภิกษุในพุทธศาสนาก่อน ต่อมาศาสนาฮินดูได้จัดสำนักเรียนขึ้นตามอย่างในสถานที่สำคัญในศาสนาของตน
สำนักเรียนโบราณ(มัฐ)นี้อยู่ในความดูแลของ ปิฏกาจารย์ คืออาจารย์ผู้สอนหรือผู้ชำระหมวดแห่งคำสอน โดยมี อันเตวาสิก คือ ลูกศิษย์ที่มีความหมายว่า ผู้อาศัยอยู่ภายในบ้านหรือตระกูล และผู้ที่เป็นลูกศิษย์อาวุโสหรือหัวหน้าลูกศิษย์นั้นเรียกว่า เชฎฐานเตวาสิก และการจัดการศึกษาในชุมชนนั้นเป็นพระราชดำริของพระเจ้าชารลมาญมหาราช(CHARLEMAGNE)ทรงเริ่มขึ้นเมื่อประมาณพ.ศ.๑๓๔๓ แต่เมื่อพระองค์สวรรคตการจัดการศึกษาก็หยุดไปด้วย ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช การศึกษาจึงเจริญรุ่งเรืองและแพร่หลายมากขึ้น มหาวิทยาลัยนาลันทา และมหาวิทยาลัยวิกรมศิลา จึงเป็นศูนย์กลางการศึกษาชั้นสูงที่มีชื่อเสียงที่สุดของชาวพุทธ
ครูบาอาจารย์ผู้ให้ความรู้นั้นคนหนึ่งจะรับลูกศิษย์ได้ไม่เกิน ๑๐–๑๕ คน และลูกศิษย์นั้นตอบแทนครูบาอาจารย์ด้วย คุรุทัปษิณา คือสิ่งตอบแทนที่ศิษย์จะต้องหามาให้อาจารย์เป็นการช่วยเหลือการครองชีพของอาจารย์ ในวรรณคดีบาลีเรียกว่า “อาจาริยธน” แปลว่าเงินที่ให้ หรือเป็นส่วนของอาจารย์ แต่ในคัมภีร์มนุสมฤตินั้นได้ให้ ครูบาอาจารย์ ตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของตน คือการสอนหนังสือนั้นเป็นวิทยาทาน โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง และเตือนผู้ปกครองของลูกศิษย์ให้ระลึกว่า”พระคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้สอนหนังสือให้แก่ลูกศิษย์ แม้เพียงให้รู้อักษรเพียงตัวเดียวนั้น ย่อมไม่มีสิ่งใดในโลกจะมีคุณค่าตอบแทนให้เสมอเหมือนได้”
สังคมสมัยโบราณเน้นการศึกษาจากคัมภีร์พระเวท ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานหรือโบราณศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของภาษาสันสกฤต เป็นความรู้ทางศาสนาที่เป็นหัวใจของชาวฮินดู ที่รวมปัญญาความคิดจากโบราณจารย์มาหลายชั่วอายุคน ตกทอดสืบเนื่องในความจำมานับพันปี ประกอบด้วยคัมภีร์หลัก ๓ ประเภท คือ
คัมภีร์สํหิตาหรือมนตร หมายถึงคัมภีร์ที่เป็นชุมนุมบทสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า บทสวดขับร้อง มนตหรือพระสูตรคาถาที่ใช้สำหรับพิธีบูชายัญ โดยแต่งเป็นคำฉันท์
คัมภีร์พราหมณะ หมายถึงคัมภีร์ที่เป็นความร้อยแก้ว อธิบายความหมายของบทสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า บัญญัติบทสวดให้เหมาะสมกับการใช้ในที่ใด พรรณาถึงที่มาของบทสวดสรรเสริญในส่วนที่เกี่ยวกับพิธีบูชายัญ และยังได้อธิบายความหมายของพิธีนั้นด้วย


คัมภีร์อารณยกะ และอุปนิษษัท หมายถึงคัมภีร์ที่เป็นบทประพันธ์ที่ว่าด้วยความคิดด้านปรัชญา ความคิดนึกเรื่องวิญญาณหรืออาตมัน เรื่องพระเป็นเจ้า โลก และมนุษย์ บางตอนในคัมภีร์นี้จะซ้ำกับคัมภีร์พราหมณะ
คัมภีร์ที่เป็นโบราณศาสตร์เหล่านี้ ได้แพร่หลาย ถ่ายทอดต่อกันไป โดยเฉพาะคัมภีร์สํหิตาหรือมนตร นั้น ได้มีโบราณจารย์ได้แก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสม จนแบ่งออกเป็น พระเวททั้งสี่ เรียกว่าคัมภีร์จตุรเวท ได้แก่
สํหิตา ที่เป็นชุมนุมบทประพันธ์ที่ใช้สวนสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้านั้นเรียกใหม่ว่า ฤคเวทสํหิตา
สํหิตา ที่เป็นชุมนุมบทประพันธ์ว่าด้วยพระสูตรสำหรับใช้ในพิธีบูชายัญนั้นให้เรียกใหม่ว่า ยชุรเวทสํหิตา ซึ่งยังแบ่งออกเป็นสองสายคือ กฤษณยชุรเวท(ยชุรเวทดำ) และศุกล ยชุรเวท (ยชุรเวทขาว)
สํหิตา ที่เป็นชุมนุมบทประพันธ์ว่าด้วยบทสวดขับร้องนั้นให้เรียกใหม่ว่า สามเวทสํหิตา
สํหิตา ที่เป็นชุมนุมบทประพันธ์ที่ว่าด้วยมนต์หรือคาถาต่าง ๆนั้นให้เรียกใหม่ว่า อถรวเวทสำหิตา หรืออาถรรพเวท
จตุรเวทนี้ แต่ละคัมภีร์นั้นต่างมีคัมภีร์พราหมณะ อารณยกะ และอุปนิษัท เป็นบริวาร และชาวฮินดูโบราณถือว่าเป็น ศรุติ คือสิ่งที่ได้ยินมาจากพระเป็นเจ้า เป็นข้อความที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยให้มนุษย์ทราบโดยผ่านฤาษีหลายตน และจะสถิตสถาพรไปชั่วกาลนาน จึงทำให้ คัมภีร์พระเวทนั้นเป็น อเปารุเษย แปลว่า สิ่งที่ไม่ได้สร้างด้วยมนุษย์และมีความเป็นนิตย์ที่ยืนยงคงอยู่ตลอดกาล ดังนั้นฤาษีที่ได้ฟังพระเวทนี้จากพระโอษฐของพระเป็นเจ้าเรียกว่า มนตรทรษฎา แปลว่า ผู้ที่ได้เห็นหรือได้รับมนตร์จากพระผู้เป็นเจ้าโดยตรง ส่วนคัมภีร์ที่มนุษย์จดจำปฏิบัติต่อกันมาจนเป็นประเพณีนั้นเรียกว่า คัมภีร์ สมฤติ (คัมภีร์จากความจำของมนุษย์) ซึ่งประกอบด้วยโบราณศาสตร์ที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ ดังนี้
คัมภีร์เวทางค์ (เวท + องค หมายถึงแขนขาหรือส่วนประกอบของเวท) หรือเรียกอีกชื่อว่า สูตร เป็นคัมภีร์ที่มี ๖ วิชา ได้แก่
วิชาออกเสียง เรียกว่า ศิกษา
วิชาแต่งกาพย์กลอนโคลงฉันท์ เรียกว่า ฉนทส
วิชาไวยากรณ์ เรียกว่า วยากรณ์
วิชาว่าด้วยที่มาของศัพท์ เรียกว่า นิรุกต
วิชาดาราศาสตร์ เรียกว่า โชยติษ
วิชาพิธีกรรม เรียกว่า กลป
การศึกษาวิชาออกเสียงและวิชาแต่งกาพย์กลอนโคลงฉันท์ นั้นจำเป็นสำหรับการเรียกอ่านพระคัมภีร์ ส่วนวิชาดาราศาสตร์ และวิชาพิธีกรรม นั้นสำหรับนำเอาความรู้นี้ไปใช้ในพิธีบูชายัญ คัมภีร์เวทางค์นี้มีลักษณะสำคัญคือ การเก็บเอาใจความมาย่อเป็นสูตรสั้น ๆแล้วให้คำอรรถธิบายประกอบโดยละเอียด เพื่อให้สะดวกแก่การท่องจำ เมื่อท่องจำสูตรได้ก็มักจะจำคำอธิบายโดยละเอียดได้เช่นกัน จึงพากันเรียกอีกชื่อว่า”สูตร”
อีกคัมภีร์ที่มีความสำคัญรองลงมาจากพระเวท คือ คัมภีร์อุปเวท มีวิชาที่เรียนกันอยู่ ๔ วิชาที่ศึกษาเพื่อทำหน้าที่เป็นแพทย์ นักรบ นักแสดง คือ
วิชาแพทย์ศาสตร์ เป็นภาคหนึ่งของคัมภีร์ฤคเวท เรียกว่า อายุรเวท
วิชายิงธนู เป็นภาคหนึ่งของคัมภีร์ยชุรเวท เรียกว่า ธนุรเวท
วิชาดนตรีและขับร้อง เป็นภาคหนึ่งของคัมภีร์สามเวท เรียกว่า คานธรวเวท
วิชาใช้อาวุธ เป็นภาคหนึ่งของคัมภีร์อถรวเวท
คัมภีร์อุปเวทนี้โบราณจารย์ได้เพิ่มให้อีกเป็น ๒ วิชาเป็นวิชาก่อสร้าง เรียกว่า สภาปตยเวท และวิชาศิลปวิทยา เรียกว่า ศิลปศาสตร์
การศึกษาในอินเดียโบราณนั้นนอกจากเรียนคัมภีร์จตุรเวท (คือพระเวททั้งสี่ได้แก่ คัมภีร์ฤคเวท คัมภีร์ยชุรเวท คัมภีร์สามเวทและคัมภีร์อถรวเวทหรืออาถรรพเวท)แล้วยังต้องเรียกคัมภีร์เวทางค์และคัมภีร์อุปเวทอีก นอกนี้ยังมีมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่และคัมภีร์สำคัญที่ต้องเรียนต่อไปอีก เช่น
มหากาพย์ เป็นบทประพันธ์ประเภทกาพย์ ที่ใช้เรื่องราวปรัมปราเล่าสืบต่อกันมา เรียกว่า อิติหาส(อิติ+หา+อาส แปลว่า เป็นเช่นนั้นจริงจริง หมายถึงวิชา ประวัติศาสตร์นั่นเอง)
มหากาพย์รามายณะ เป็นมหากาพย์ชิ้นแรกของโลกที่รจนาโดย ฤาษีวาลมีกิ แต่งจำนวน ๒๔,๐๐๐ โศลก มีทั้งหมด ๗ กานฑ(กัณฑ์)หรือ ๗ ตอน เป็นเรื่องราวของพระรามและนางสีดา รามายณ แปลว่า การไปของราม ซึ่งหมายถึงการเดินทางบุกป่าฝ่าดงของพระรามในการติดตามหานางสีดา นั่นเอง ต่อมาเรื่องราวนี้ได้เผยแพร่ไปในเอเซียอาคเนย์ จึงเกิดวรรณคดีเรื่องนี้ในหลายชาติเช่น อินโดนีเซีย มลายู กัมพูชา ลาว พม่าและไทย สำหรับไทยนั้นได้แต่งเติมและสร้างเรื่องใหม่ให้เหมาะสมกับขนบธรรมเนียมฝ่ายกรุงศรีอยุธยาในชื่อว่า รามเกียรติ ที่ใช้การแสดงโขน ถ่ายทอดเรื่องราว
นอกจากนี้ยังมีกาพย์ที่สรรเสริญพระรามโดยพรรณาชีวประวัติและยกย่องคุณความดีอีกหลายเล่มเช่น กาพย์รฆุวงศ์ ของ รัตนกวี กาลิทาส
มหากาพย์มหาภารตะ มหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่มีแต่งเป็นฉันท์โดยฤาษีเวทวยาสหรือกฤษณ ไทวปายน แต่งจำนวน ๑ แสนโศลกมีทั้งหมด ๑๘ บรรพ(ปรว)หรือประมาณ ๒๒๐,๐๐๐ บรรทัด เนื้อเรื่องเป็นการพรรณาถึงการทำสงครามที่ขับเคี่ยวกันระหว่างพี่น้องสองตระกูลคือตระกูลเการพ(โกรพ) กับตระกูลปาณฑพ ที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน คือ ท้าว ภรต (โอรสท้าวทัศยันต์กับนางศกุนตลา) เพื่อแย่งชิงราชสมบัติหรือแย่งกันปกครองแผ่นดิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของประเทศต่างทุกแห่งแต่ฮินดูนั้นถือว่ามหาภารตะนี้ คือสงครามระหว่างฝ่ายธรรมะที่ชนะอธรรม ณ ทุ่งกุรุเกษตร ต่างสู้รบกันนานถึง ๑๘ วันต่างสูญเสียรี้พลมากมายจนเป็น”มหายุทธ”ที่ดุเดือดบ้าคลั่งสงคราม เรื่องนี้เกิดก่อนพระพุทธเจ้าประสูติ ๕๐๐ ปี นับเป็นงานวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่รวบรวมเรื่องปรัมปรา ขนบธรรมเนียมประเพณี และนานาปรัชญาจากพหุเทวนิยม เทวนิยม เอกนิยม ที่เต็มไปด้วยพลังทางสร้างสรรค์ นอกนั้นยังใช้เป็นธรรมศาสตร์ อรรถศาสตร์ นิติศาสตร์และโมกษศาสตร์ด้วย มหากาพย์นี้มีโศลกยกย่องว่า
“ สิ่งใดที่มีอยู่ในมหากาพย์นี้ สิ่งนั้นอาจมีให้เห็นในที่อื่นได้ แต่สิ่งใดที่ไม่มีอยู่ในมหากาพย์นี้ สิ่งนั้นย่อมจะหาไม่ได้เลยในที่แห่งอื่น”
ในมหากาพย์มหาภารตะเรื่องนี้ ปรากฏมีชื่อ พระอาจารย์โทรณะ ว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญอย่างยอดเยี่ยมในศิลปทั้งหลายรวมทั้งวิชาการณรงค์สงครามด้วย ด้วยเหตุนี้บรรดาเจ้าชายทั้งหลายต้องศึกษาและเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์ผู้นี้ทั้งสิ้น ผู้รจนานั้นได้แต่งกาพย์หริวงศ์ เพื่อสรรเสริญพระเกียรติคุณของพระกฤษณะผู้ที่ชาวฮินดูเคารพนับถือว่า เป็นอวตารปางหนึ่งของพระวิษณุเทพเจ้า จนมีชื่อเรียกว่า พระคัมภีร์พระเวทที่ ๕ อีกชื่อหนึ่ง
ศรียวาหระลาล เนห์รู ประธานาธิบดีอินเดียได้พูดถึงหนังสือมหากาพย์สองเล่มนี้ใน”พบถิ่นอินเดีย”ว่า”ข้าพเจ้าไม่รู้จักหนังสือเรื่องใดที่ใหนจะมีอิทธิพลเหนือจิตใจของมวลชนอย่างต่อเนื่อง และแผ่ไพศาลมากเท่ากับหนังสือสองเล่มนี้ แม้หนังสือนี้จะมีอายุเก่าแก่ดึกดำบรรพ์แล้ว หนังสือสองเล่มนี้ยังสร้างพลังอย่างจริงจังในวิถีชีวิตของประชาชนชาวอินเดีย”
สังคมชีวิตของอินเดียโบราณ จึงมุ่งเน้นการศึกษาศาสตร์และพระคัมภีร์ต่างๆมากมายสำหรับการสร้างอาณาจักรให้มั่นคง โดยยึดเอาความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และการนำศาสนามาใช้ครองตนครองแผ่นดินสร้างอาณาจักรให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

คัมภีร์โบราณต้นแบบของชีวิต
คัมภีร์โบราณที่เป็นต้นแบบชีวิตของชาวอินเดียโบราณในสมัยแรกนั้น เรียกว่า คัมภีร์ปัญจลักษณะ ได้แก่
คัมภีร์ปุราณะ เป็นเรื่องราวที่มีมาแต่โบราณกาล ถือเป็นสารานุกรมที่รวบรวมความรู้นานาประการของชาวฮินดูโบราณ และสมัยกลาง ได้แก่ความรู้ทางศาสนา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ เรื่องราวของบุคคลสำคัญๆและพฤติการณ์ของบ้านเมือง ในปทานุกรมอมรโกษ ได้อธิบายถึง คัมภีร์ปุราณว่า เป็นคัมภีร์ “ปัญจลักษณะ” ที่มีเนื้อเรื่องประกอบด้วย ความเป็นมาของเอกภพ ความพินาศและกลับมีเป็นขึ้นใหม่ของเอกภพ ประวัติเทพเจ้าและทวยเทพ การครองโลกของพระมนู ๑๔ องค์ และประวัติของศูรยวงศ์ และจันทรวงศ์ คัมภีร์ปุราณนั้นเป็นคัมภีร์ที่ดำเนินเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของพระผู้เป็นเจ้าสามองค์ คือ พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ นับเป็น”มหาปุราณ”มีจำนวน ๑๘ เล่ม (บางแห่งว่าภาคผนวกของมหาปุราณนั้นมี อุปปุราณ อีก ๑๘ เล่ม) คัมภีร์นี้มีประโยชน์สำหรับการศึกษาค้นคว้าเรื่องชีวิตของชาวอินเดียโบราณ
คัมภีร์ภควัทคีตา แปลว่า เพลงแห่งพระผู้เป็นเจ้า เป็นตอนหนึ่งของมหากาพย์มหาภารตะ ซึ่งถือเป็นหัวใจปรัชญาของฮินดู โดยพัฒนามาจากลัทธภาควัต มีคำฉันท์เป็นบทโศลก ๗๐๐ บท หลักธรรมคำสอนให้คนเลิกคิดว่า ด้วยวิถีทางแห่งการเป็นนักบวชว่า ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะ วรรณะหรืออาชีพใดก็ตาม หากมีความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ก็ย่อมจะบรรลุถึงความหลุดพ้นได้ทุกคน และเป็นคัมภีร์ที่เน้นหนักถึงวัตรปฏิบัติทางหลักจริยธรรม หรือหลักธรรมใดถ้าหากจากความเมตตากรุณาของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว กุศลผลบุญย่อมไม่บังเกิดขึ้นแต่ประการใด
คัมภีร์อุปนิษัท เป็นคัมภีร์ต่อท้ายคัมภีร์พระเวท เป็นคำสอนลี้ลับที่ว่าด้วยหลักหรือคำสอนเกี่ยวกับ ปรมาตมัน ที่เชื่อว่าเป็นความจริง นั้น อารตมันหรือวิญญาณของคนแต่ละชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของปาราตมัน จะต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างนับไม่ถ้วน ด้วยเหตุที่กรรมคือการกระทำ เมื่อหมดที่จะเวียนว่ายตายเกิดนับไม่ถ้วน ต่อเมื่อหมดกรรมแล้ว อาตมันทั้งหลายก็จะกลับคืนเข้าสู่ ปรมาตมัน
คัมภีร์ตันตระ เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วนคำสอนที่ลึกลับ เน้นหนักไปทางไสยศาสตร์หรือเวทมนต์คาถา ส่วนมากจะปรากฏเป็นคำสนทนาระหว่างพระศิวะกับนางทุรคา ผู้เป็นพระชายาว่าด้วยการสร้างโลก ความพินาศของโลก การบูชากราบไหว้พระเจ้า การบรรลุถึงสิ่งที่ปราถนาทุกประการ โดยเฉพาะการบรรลุถึงอิทธิฤทธิ ๖ และวิธีเข้าสู่พระผู้เป็นเจ้า ๔ วิธี ด้วยการบำเพ็ญสมาธิภาวนา คัมภีร์นี้ก่อให้เกิดลัทธิ ศกติ คือ ลัทธิลึกลับที่ใช้บูชาศักดานุภาพของเทพเจ้าฝ่ายหญิง คือ เจ้าแม่กาลี หรือเทวี
คัมภีร์พระไตรปิฏก เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มี ๓ ภาคคือ วินัยปิฏก –ระเบียบข้อบังคับสำหรับพระภิกษุสงฆ์ สุตตปิฏก-พระพุทธวัจนะของพระพุทธเจ้า และอภิธัมมปิฏก –คำสอนชั้นสูงหรือปรัชญาของพระพุทธศาสนา เป็นคัมภีร์ของผู้ตื่นแล้วจากความเป็นจริงของโลก พระพุทธองค์ทรงประกาศว่า
“มนุษย์จะหลุดพ้นเป็นอิสระจากสังสารวัฎ คือการเวียนว่ายตายเกิดได้ ก็โดยการกำจัดเสียซึ่งกิเลสตัณหาหรือความทะยานอยาก และโดยการมีไมตรีจิตต่อสรรพชีวิตทั้งปวง”
แม้ว่าต่อมานั้นพระพุทธศาสนาจะได้แยกออกเป็น ๒ นิกายคือ
นิกายหินยานหรือเถรวาท ซึ่งเป็นนิกายที่ถือตนเองว่ายึดมั่นอยู่กับคำสอนเดิมของพระพุทธเจ้า โดยใช้บาลีเป็นภาษาบันทึกหลักธรรม นิกายนี้ได้เผยแพร่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศที่มีดินแดนอยู่ทางใต้ได้แก่ลังกา พม่า ไทย กัมพูชาและลาว จึงเรียกว่า นิกายฝ่ายใต้หรือทักษิณนิกาย
นิกายมหายานหรืออาจาริยวาท นิกายที่แตกแยกออกไปจากพุทธบริษัทเดิม ใช้ภาษาสันสกฃฤตเป็นภาษาบันทึกคำสอนต่างๆ ตามแนวทรรศนะของตน นิกายนี้ได้เผยแพร่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศที่มีดินแดนทางเหนือ ได้แก่ ทิเบต เนปาล จีน มงโกเลีย เกาหลี ญวน และญี่ปุ่น จึงเรียกว่านิกายฝ่ายเหนือหรือ อุตรนิกาย ซึ่งมีพระสูตรต่างๆมากมายเช่นคัมภีร์มหาวัสตุ คัมภีร์สลิตวิสูตร คัมภีร์พุทธจริต และที่สำคัญที่สุดคือ คัมภีรน์สทธรรมปุณฑรีกสูตร ซึ่งยึดมั่นในแนวคำสอนว่า
“พระพุทธองค์ทรงสถิตสถาพรอยู่กับสัตว์โลกชั่วกัลปาวสาน และทรงเป็นผู้ประทานวิมุกติภาพให้แก่ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ” จึงทำให้พระพุทธศาสนานิกายมหายานนี้มีแนวสอนที่ใกล้เคียงกับศาสนาพราหมณ์ หรือศาสนาอื่นที่ถือว่า มีพระผู้เป็นเจ้าที่ยิ่งใหญ่
นอกจากคัมภีร์โบราณแล้ว นักอักษรศาสตร์ในสมัยราชวงศ์คุปตะ ได้นิยมการแต่ง กาวย หรือ กาพย์ ที่เต็มไปด้วยท่วงทำนองและใช้ถ้อยคำที่ได้รับการประดิษฐอย่างไพเราะเพริศพริ้งแพรวพราว จึงเกิดวรรณคดี ขึ้นมากมายในความอุปถัมภ์จากพระเจ้าแผ่นดิน นอกจากมหากาพย์ดังกล่าวแล้วยังมีงานของกาลิทาส รัตนกวีโบราณที่มีชื่อเสียงในการแต่งโคลงขับร้องและบทละคร มีผลงานที่สำคัญคือ มาลวิกาคนิมิตร (ความรักของมาลวิกาและอัคนิ) วิกรโมรวสี(อุรวสี ผู้ถูกพิชิตด้วยความกล้าหาญ และศกุนตลา(แหวนที่หาย) ส่วนงานวรรณกรรมอื่นนั้นมีมากมายเช่น รฆุวงศ์ เป็นกาพย์พรรณาวงศ์พระราม กุมารสมภพ บรรยายกำเนิดของขันธกุมาร หรือการติเกยะ เทพเจ้าสงคราม ฤตุสมหาร บรรยาย การหมุนเวียนเปลี่ยนไปของฤดูกาล และเมฆฑูต ที่พรรณาถึงท้าวกุเวร เทพเจ้าแห่งขุมทรัพย์
ส่วนวรรณกรรมสำคัญอื่นๆนั้นได้แก่ อุตตรรามจริต ของ ภวภูติ ที่พรรณาเรื่องราวตอนปลายของพระราม รัตนาวลี (สายสร้อยแก้วมณี) ของพระเจ้าหรรษ คีตโกวินท์(เพลงของคนเลี้ยงวัว)ของ ชัยเทว ผู้เป็นราชาแห่งกวีทั้งหลาย เรื่องนี้เป็นกาพย์พรรณาความรักอย่างดื่มด่ำของพระกฤษณะกับนางราธา สาวเลี้ยงวัวแห่งมถุรา หรรษจริต ของพาณ ที่พรรณาเรื่องชีวิตรักของจักรพรรดิหรรษ ในวัยหนุ่ม ในอินเดียโบราณตอนใต้นั้นมี กุราล ของกวีติรุวัลลุวาร พรรณาสาระสำคัญเกี่ยวกับชีวิต คือ การแสวงหาปัญญา ทรัพย์สินเงินทอง และความสุข ติรุวาจคัม ของกวีมาณิกกระวาจคระ ที่พรรณาถึงพระศิวะ ได้ดีที่สุดถึงกับมีคำกล่าวว่า”ใครก็ตามที่ได้อ่านติรุวาจคัมแล้ว ไม่เกิดศรัทธาปสาทะจนถึงกับน้ำตาไหลแล้ว หัวใจของผู้นั้นจะต้องเป็นหัวใจหินแน่เทียว”เป็นต้น
สำหรับนิทานที่เป็นบทเรียนใช้สอนกันแพร่หลายนั้นได้แก่ นิทานชาดกของพระพุทธศาสนา นิทานปัญจตันตระหรือนิทาน๕ หมวด นิทานหิโตปเทศ ของชาวฮินดู กถาสริตสาคร (สาครแห่งนิทาน)ของพราหมณ์โสมเทว นิทานเวตาล ซึ่งนิทานเหล่านี้ได้มีอิทธิพลไปถึงยุโรปนี้ดังปรากฏเป็นนิทานอีสิป ของอีสป(AESOP) ปราชญ์ชาวกรีก นิทานอาหรับราตรี บันเทิงทศวาร ของ บอคคาซิโอ(DECAMERON ของ BOCCACIO) นิทานซานเตอเบอรี่(CANTERBURY ) นิทานลา ฟอนเต(LA FONTAINE )และนิทานของกริมม์( GRIMM) เป็นต้น
ในสมัยราชวงศ์คุปตะระหว่างพ.ศ.๘๖๓–พ.ศ.๑๐๓๓นั้นได้มีตำรับตำราที่เป็นโบราณศาสตร์เกิดขึ้นหลายแขนงมี ตำราตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ นิติศาสตร์และตำราธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะคัมภีร์อรรถศาสตร์ ของ เกาฏิลย หรือ จาณักย อัครมหาเสนาบดีของพระเจ้าจันทรคุปต์ แห่งราชวงศ์เมารายะ(ก่อนคริสตศักราช ๓๒๔–๑๘๗ ปี)ถือเป็นรากฐานกฏหมายสำคัญของชาวฮินดู และมีอิทธิพลไปยังดินแดนอื่นๆด้วย ต่างใช้เป็นต้นแบบของปรัชญาและข้อกำหนดของสังคม นับเป็นคัมภีร์โบราณศาสตร์ ที่เป็นต้นแบบสำหรับประเทศในดินแดนสุวรรณภูมิและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
ดังนั้นคัมภีร์ต้นแบบนี้นอกจากความเชื่อทางศาสนาแล้ว คัมภีร์ธรรมศาสตร์ ถือเป็นคัมภีร์หลักว่าด้วยหลักกฏหมาย จารีตประเพณีและสิทธิหน้าที่ของคนในสังคมฮินดู คัมภีร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ คัมภีร์ธรรมศาสตร์ของมนู และคัมภีร์ธรรมศาสตร์ของ ยาชญวลกย หลักของคัมภีร์นี้เน้นเนื้อสาระที่สำคัญคือ หลักความประพฤติ และปฏิบัติ เรียก อาจาร อำนาจตุลาการเรียก วยวหาร และการลบล้างความผิด เรียก ปรายศจิตต กล่าวกันว่าคัมภีร์ธรรมศาสตร์นี้ ฤาษีจำนวน ๑๘ ตน(มีบางแห่งจำนวนต่างกัน)ได้ช่วยกันรจนาด้วยอำนาจที่พระผู้เป็นเจ้าดลใจให้ ต่อมาได้การยอมรับนับถือว่าเป็นคัมภีร์ที่มีอิทธิพลเหนือระบบกฏหมายของประเทศนั้น
คัมภีร์อรรถศาสตร์ แปลว่า วิชาที่ว่าด้วยการแสวงหาผลประโยชน์ ตำราที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ ตำราอรรถศาสตร์ของเกาฏิลย หรือ จาณกย (วิษณุคุปต์) ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของพระเจ้าจันทรคุปต์เมารย(เป็นพระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช) เมื่อศตวรรษที่ ๔ ก่อนคริสต์ศก กาฏิลย ผู้นี้เกิดในตระกูลพราหมณ์ บิดามารดาตั้งชื่อว่า วิษณุคุปต์ เหตุที่เป็นชาวเมืองจาณัก จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จาณักย์ ในสมัยโบราณเป็นผู้ที่ปรีชาสามารถ มีชั้นเชิงในทางการเมืองหาตัวจับได้ยาก ชาวอินเดียขนานนามว่าเป็น MACHIAVELLI ของอินเดีย ในสมัยหนึ่งได้ตั้งตำบลจาณักยปุรีไว้เพื่อแสดงถึงปรากฏการณ์นี้
“โบราณศาสตร์”นั้นเป็นตำรับตำราที่เกิดขึ้นในสมัยโบราณ เป็นศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญต่อราชบัลลังก์และอาณาจักร เพื่อใช้ปกครองดูแลและกำหนดชะตาเมือง ตลอดจนการเสริมอำนาจบารมีแห่งพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่เป็นเจ้าชีวิต และอาณาประชาราษฎรประสบแต่ความร่มเย็นเป็นสุข แผ่พระเดชานุภาพให้ไพศาลไปทั่วสารทิศตลอดไป
วิชาการที่เป็นโบราณศาสตร์นั้นจึงเริ่มต้นมาจากอิทธิพลของศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์ ชื่อของโบราณจารย์จึงมีตำแหน่งสูงส่ง ในดินแดนสุวรรณภูมิโดยเฉพาะอาณาจักรสยามนั้นปรากฏชื่อในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยว่า “ปู่ครู” หรือในเอกสารสมัยอยุธยาว่า พระราชครู หรือ พระโหราธิบดี ซึ่งไม่แตกต่างไปจากตำแหน่งพราหมณ์ ปิฏกาจารย์ พระมหาราชครู หรือปุโรหิต หรือ นักปราชญ์ราชบัณฑิต ที่เป็นตำแหน่งสำคัญปรากฏในประเทศอื่น ที่รับเอาศาสนาพราหมณ์ ฮินดูและพุทธศาสนา ไปเป็นหลักในการศึกษาและสั่งสอนอาณาประชาราษฏร์
ประเด็นที่น่าศึกษาต่อไปก็คือเส้นทางเดินของโบราณศาสตร์ชั้นสูงของอินเดียดังกล่าวนี้ได้เดินทางเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิได้อย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น