วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พุทธเถรวาทและมหายาน

ทัศนะของนักศาสนศาสตร์หลายคนมักจะมองว่า
พุทธศาสนานิกายเถรวาทนั้นเป็นเพียงปรัชญาหรือเป็นหลักจริยธรรม
ที่เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

สำหรับ พระธรรมปิฎก (สมณศักดิ์ปัจจุบันที่พระพรหมคุณาภรณ์)
ท่านได้แสดงความเห็นในเรื่องไว้ในหนังสือพระพุทธธรรมว่า

คำสอนในพุทธศาสนาดั้งเดิมหรือพุทธเถรวาทนั้นไม่ใช่ปรัชญา
แต่เป็นพุทธธรรม ที่มีลักษณะทั่วไปอันพอสรุปได้ ๒ ประการ ดังนี้

๑. แสดงหลักความจริงตามทางสายกลางที่เรียกว่า มัชเฌนธรรม
ว่าด้วยความจริงตามแนวของเหตุผลบริสุทธิ์ตามกระบวนการธรรมชาติ
นำมาแสดงเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติในชีวิตจริงเท่านั้น
ไม่ส่งเสริมความพยายามที่จะเข้าถึงสัจจธรรมด้วยวิธีถกเถียงสร้างทฤษฎีต่างๆ ขึ้น
เพื่อความยึดมั่นหรือปกป้องทฤษฎีนั้นๆ ด้วยการเก็งความจริงทางปรัชญา

๒. แสดงข้อปฏิบัติตามทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา
อันเป็นหลักครองชีวิตของผู้ฝึกอบรมตน ให้รู้เท่าทันชีวิต ไม่หลงงมงาย
มุ่งผลสำเร็จคือ ความสุข สะอาด สว่าง สงบ
เป็นอิสระที่สามารถมองเห็นได้ในชีวิตนี้
และการปฏิบัติความสายกลางนี้ควรเป็นไปโดยสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ
เช่นสภาพชีวิตของบรรพชิต หรือคฤหัสถ์ เป็นต้น

๓.พุทธรรมฝ่ายเถรวาทนั้น เน้นในเรื่องการกระทำ (กรรมวาทและกิริยวาท)
เน้นความเพียร พยายาม (วิริยวาท) มุ่งผลในทางปฏิบัติโวยตนเอง
ภายใต้หลัก อัปปมาทธรรม และ หลักแห่งกัลยาณมิตร

พุทธศาสนาเถรวาทจึงไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนปรารถนา
หรือศาสนาแห่งความความห่วงหวังกังวล
หากจะถือว่า พุทธธรรมดังกล่าวเป็นปรัชญา
ก็เป็นปรัชญาที่สอนให้มนุษย์พึงพิงตนเองแต่เพียงอย่างเดียว

ส่วนปรัชญาพุทธแบบมหายานนั้น มีหลักปรัชญาอันหลากหลาย
นิกายมหายานจึงมีลักษณะของความเชื่อและการปฏิบัติที่แตกต่างกัน
ดังเช่นนิกายที่อิงอาศัย ปรัชญามาธยมิก
ย่อมแตกต่างจากมหายานที่ยึดถือ ปรัชญาโยคาจาร และ มหายานสุขาวดี
ย่อมแตกต่างจาก มหายานเซน ดังนี้ เป็นต้น

ข้อสรุปความแตกต่างในปรัชญาอันเป็นหลักคำสอนระหว่าง ๒ นิกาย *

๑. ความแตกต่างในเป้าหมายสูงสุด

มหายานยึดในหลักโพธิจิต สอนให้มนุษย์ตั้งความปรารถนาในโพธิญาณ
ไม่ใช่มุ่งปรารถนาในอรหัตญาณดังความเชื่อในฝ่ายเถรวาท
มหายานเชื่อในพุทธการกธรรม ยึดหลักของพุทธบารมีเป็นประทีปนำทาง
แทนการเน้นในเรื่องอริยสัจ ๔ เช่นของฝ่ายเถรวาท

๒. หลักการเชิงคุณภาพและปริมาณของศาสนิกชน

ของฝ่ายเถรวาท คือเอาคุณภาพของศาสนิกชนเป็นสำคัญ
ยึดถือและคงไว้ซึ่งพระธรรมวินัยแลสิกขาบททุกข้อ
ที่พระพุทธองค์เคยบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎกอย่างเคร่งครัด

ส่วนมหายานถือเอาทางด้านปริมาณ
ดังนั้นปรัชญามหายานจึงลดหย่อนผ่อนปรนพระธรรมวินัย
เช่นในเรื่องสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เป็นเหตุ อปยคมนีย
ที่นำไปสู่อบายภูมิลง คงไว้แต่สิกขาบทที่สำคัญส่วนใหญ่

๓. เงื่อนไขของปณิธานในความปรารถนาพุทธภูมิ

มหายานมีความเชื่อมั่นต่อปณิธานที่ปรารถนาในพุทธภูมิ
ผู้ที่บรรลุโพธิจิตหากมีความจำเป็นที่จะต้องประพฤติปฏิบัติสิ่งใดแม้จะขัดกับพระธรรมวินัย
หากแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อการรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของพระศาสนา

แม้จะเป็นการกระทำถึงขั้นปาณาติบาตด้วยการเผด็จชีวิตต่อผู้ทรยศต่อพระศาสนา
ก็พร้อมที่จะทำ แม้กรรมนั้นจำต้องทำให้พระโพธิสัตว์ต้องตกนรก
ทั้งนี้เพื่อแลกกับบุญกุศลที่ได้คุ้มครองพระศาสนา

แต่การกระทำนั้นต้องปราศจาก วิหิงสาพยาบาท
เป็นการกระทำที่มหายานถือว่าให้ความเมตตาต่อผู้ที่สร้างอกุศลกรรม
คติธรรมที่ว่านี้มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์

ส่วนฝ่ายเถรวาทถือว่า
การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไม่ว่าด้วยเหตุผลใดใด
ย่อมเป็นบาป ผิดหลัก เบญจศีล
เถรวาทสอนแต่เพียงว่า ให้กล้าที่จะเสียสละแม้แต่ชีวิตเพื่อรักษาไว้ซึ่งสัจธรรม

เถรวาทไม่เชื่อและสอนให้เชื่อว่า
ปาณาติบาต ไม่ว่ากรณีใดใด จะก่อให้เกิดกุศลกรรมต่อตนเองหรือต่อพระศาสนา

๔. การพัฒนาการเรียนการสอนพระธรรม

มหายาน พัฒนาการเรียนการสอนพระธรรม
เพื่อเพิ่มสมาชิกด้วยลัทธิและพิธีกรรมต่างๆ
รวมทั้งการจัดธรรมสังคีตเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประกาศพระศาสนา
ขับกล่อมชักจูงศรัทธาของประชาชน ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่มีในฝ่ายเถรวาท

๕. อรรกถาธิบายพุทธมติ

คณาจารย์ที่มีความรู้ในปรัชญามหายาน เช่น ท่านนาคารชุน ท่านอสังคะ ฯลฯ
ได้เพิ่มอรรกถาธิบายพุทธมติออกไปอย่างกว้างขวาง
มหายานจึงมีกิ่งนิกายหรือนิกายย่อยออกไปเป็นจำนวนมาก มีปรัชญาเฉพาะเป็นของตนเอง
ทำให้พุทธศาสนามหายานมีปรัชญาหลากหลายเหมาะต่อการเลือกเชื่อ เลือกศรัทธา
มีลักษณะที่เป็นทั้ง หลักปฏิฐานนิยม สัจจนิยม อภิปรัชญาและตรรกวิทยา

ส่วนทางเถรวาทยังยึดหลักปรัชญาพุทธตามที่ปรากฏในคัมภีร์ดั้งเดิม
คือพระไตรปิฎกอย่างเคร่งครัด จะมีเป็นเพียง อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา
ที่มีผู้รู้แต่งขึ้นภายหลังเพื่อการขยายความเพิ่มเติมในอรรถรสที่ไม่ชัดเจนในพระไตรปิฎก

๖. พระสูตร

คณาจารย์มหายานได้พระสูตรขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก
โดยอิงอาศัยพุทธมติ พุทธปรัชญาเดิม
ก็ด้วยเจตนาที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเป็นที่แพร่หลาย
ต่อชนทุกชั้นทุกระดับปัญญา ที่สามารถเลือกเชื่อเลือกนับถือ

คณาจารย์เหล่านี้ประกอบด้วยบุคคลทั้งที่อยู่ในเพศบรรพชิตและฆราวาส
ที่แตกฉานในรสพระธรรม มีการใช้สำนวนกวีชวนอ่านชวนฟังกว่าพระสูตร
ที่ปรากฏในฝ่ายเถรวาทเป็นอย่างมาก

ผู้ที่เคยอ่าน สัทธรรมปุณฑริกสูตร
ที่ อาจารย์ ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ แปลมาจากภาษาฝรั่ง
หรือ หนังสือกามนิต วาสิฏฐี
ที่ ท่านเสถียรโกเศศ และนาคะประทีป แปลมาจากเรื่องที่
คาร์ล เลอ รุป แต่งสดุดีปรัชญาพุทธมหายาน
ย่อมเป็นพยานในความไพเราะเพราะพริ้งของภาษาที่แฝงอยู่
ในอรรถรสแห่งพุทธธรรมแบบมหายานได้เป็นอย่างดี

๗. การดำเนินนโยบายเผยแผ่พระศาสนา

มหายานดำเนินนโยบายการเผยแผ่พระศาสนาโดยมุ่งสามัญชนเป็นเป้าหมายหลัก
เพราะเชื่อว่าปรัชญาพุทธนั้นลึกซึ้งยากต่อการทำความเข้าใจ
แม้แต่ในปัญญาชนที่รับการศึกษาทางโลกมามากแล้วก็ตาม

นอกจากนั้นมหายานยังปรับความเชื่อให้เขากับลัทธิธรรมเนียมดั้งเดิมของสามัญชน
ที่เคยเชื่อถือมาเป็นเวลานาน
ความเชื่อเดิมที่ไม่ขัดกับหลักธรรมใหญ่
หรือแม้ขัดกับหลักธรรมเดิมของพุทธศาสนาเป็นบางส่วน
มหายานจะรับเข้าไว้โดยไม่รีรอ

จึงทำให้ความเชื่อเดิมของชาวมหายานที่เป็นอเทวนิยม
กลายเป็นเทวนิยมไปโดยปริยาย มีพระพุทธเจ้ามากมาย
องค์ที่สำคัญที่ได้รับการยกย่องขึ้นเป็นพระโพธิสัตว์

จนเป็นเหตุให้นักปราชญ์ชาวอินเดียที่ศึกษาพระพุทธศาสนายังไม่แตกฉานทึกทักเอาว่า
พุทธศาสนาคือนิกายหนึ่งของศาสนาฮินดู
พระพุทธเจ้าคือปางที่ ๙ ของพระวิษณุที่อวตารลงมาช่วยแก้ปัญหาให้กับมนุษย์

หากจะลองมาพิจารณาด้วย อหังการ มมังการ
อาจจะตั้งสมมติฐานได้ว่า
มหายานพยายามปรับความเชื่อของตนเองเพื่อจะดึงศาสนิกชาวฮินดูสมัยนั้น
ให้เข้ามายอมรับนับถือในศาสนาของตน
หรือมิฉะนั้นก็อาจเป็นเพราะแนวคิดของมหายาน
ถูกกลืนอย่างไม่รู้ตัวโดยปรัชญาฮินดู

หมายเหตุ :

เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในประเด็นความแตกต่างระหว่าง ๒ นิกายนี้โดยง่ายขึ้น
ผู้โพสต์จึงได้จัดทำเป็นหัวข้อขึ้นเพิ่มเติม
โดยคำอธิบายในแต่ละหัวข้อนั้น ยังคงไว้ซึ่งเนื้อหาเดิมตามต้นฉบับทุกประการ

อาจารย์สมภาร พรมทา สรุปแนวความคิดพื้นฐานของฝ่ายมหายานว่า
มีความแตกต่างจากฝ่ายเถรวาทอยู่ ๒ ประการ

คือ ทัศนะต่อพระพุทธเจ้า กับ ทัศนะต่ออุดมคติสูงสุดในชีวิต ดังนี้

๑. ทัศนะต่อพระพุทธเจ้า

ชาวเถรวาทเชื่อว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์ มิใช่เทพผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ
พระองค์คือผู้ที่ได้ทุ่มเทสติปัญญา
และความเพียรพยายามเพื่อไปให้ถึงจุดหมายที่ทรงมุ่งหวังคือ นิพพาน

ในทางรูปธรรมพระองค์ทรงมีเนื้อหนังร่างกาย
ที่อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติเดียวกับคนธรรมทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น