วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อารยธรรมโรมัน

ประวัติศาสตร์และอารยธรรมโรมัน

โรมสมัยต้น

โรมก่อตัวจากหมู่บ้านทางภาคกลางของอิตาลี อุปนิสัยของโรมันคือ ความเคร่งขรึมและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ อย่างช้า ๆ แต่มั่นคง ความสามารถทางทหารของโรมันอยู่ที่ความอดทนมากกว่ายุทธวิธีที่ฉลาดปราดเปรื่อง

ระยะแรกสำหรับประวัติศาสตร์โรมนั้นค่อนข้างมืดมน ราว 750 ปีก่อน ค.ศ. มีผู้อพยพมาตั้ง ถิ่นฐานแถบภูเขาพาเลนไตน์ใกล้แม่น้ำไทเบอร์ ต่อมาประมาณ 600 ปี ก่อน ค.ศ. บรรดาผู้อพยพต่างรวมตัวกันตั้งนครรัฐแห่งโรมขึ้น ทำเลของนครรัฐตั้งอยู่ในที่ซึ่งเหมาะสม เหมาะสำหรับความเจริญของโรมในอนาคตทางเหนือของโรมติดต่อกัยดินแกนที่เรียกว่า อีทรูเรีย คือ ทัสคานีปัจจุบัน อีทรูเนียเป็นที่อยู่อาศัยของพวกที่มีอารยธรรมสูงเรียกว่า อีทรัสกัน ซึ่งเป็นพวกที่วางรูปวัฒนธรรมของชาวโรมันแต่เริ่มแรก

ชาวอีทรัสกันเป็นพวกที่รับอารยธรรมกรีกมาผสมผสานกับอารยธรรมของตนและส่งต่อให้กับโรม การปกครองของโรมในระยะแรกอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ที่มีพื้นเพเป็นอิทรัสกัน ความเป็นผู้นำที่มีความสามารถและมุ่งต่อการรุกราน ทำให้ชาวโรมันเป็นชาติที่ทรงอำนาจเหนือชนชาติอื่น ๆ ในละติอุมชุมชนโรมันเจริญทั้งกำลังและความมั่งคั่ง และแล้วก็ได้มีการสร้างวิหารใหญ่โตตามแบบสถาปัตยกรรมของอีทรัสคันขึ้นบนภูเขาแห่งหนึ่งสำหรับเทพเจ้าจูปีเตอร์ของชาวโรมัน

ในราว 509 ก่อน ค.ศ. ขุนนางโรมันประสบความสำเร็จในการล้มกษัตริย์อีทรัสกัน และเปลี่ยนแปลงระบอบกษัตริย์มาเป็นสาธารณรัฐปกครองโดยชนชั้นขุนนาง มีประมุข 2 คน แทนที่กษัตริย์เรียกว่ากงสุลสภาขุนนาง (สภาเชเนท) เลือกตั้งกงสุลเป็นประจำทุกปี กงสุลปกครองโดยมีสภาขุนนางเป็นที่ปรึกษาการปกครองนั้น แม้จะปกครองในนามชาวโรมันแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของชนชั้นสูง คือ แพทริเชียน ส่วนชนชั้นต่ำหรือเพลเบียนนั้น เกือบไม่มีสิทธิทางการเมืองเลย การแต่งงานระหว่าง เพลเบียนกับแพทริเชียนยังเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาดในระยะแรก ๆ

พวกเพลเบียนค่อย ๆ ยกฐานะของตน เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง ในชั้นแรกพวกนี้รวมกลุ่มกันจัดตั้งสภาที่ปรึกษา ซึ่งต่อมากลายเป็นองค์กรสำคัญทางการเมืองที่เรียกว่าสภาของเผ่า พวกเพลเบียนเลือกตัวแทนของตนเรียกว่า ทรีบูน ให้เป็นปากเสียงและเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของตนในรัฐบาลซึ่งคุมโดยแพทริเชียน ทรีบูนเป็นพวกที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

เมื่อประมาณ 450 ก่อน ค.ศ. ได้มีการนำกฎหมายที่สืบทอดกันมาตามประเพณีมาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร คือ กฎหมายสิบสองโต๊ะ กฎหมายนี้ช่วยพิทักษ์บรรดาเพลเบียนให้พ้นจากอำนาจตามอำเภอใจของกงสุลที่มาจากชนชั้นแพทริเชียน กฎหมายสิบสองโต๊ะนี้นับว่ามีความสำคัญมากต่อพัฒนาการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของโรมัน

การพิทักษ์ทางกฎหมาย ทำให้เพลเบียนสามารถจัดการกับเรื่องการจัดสรรที่ดินให้พวกตนได้รับการแบ่งปันบ้าง สภาของเป่าของพวกเพลเบียนได้รับอำนาจในการริเริ่มร่างกฎหมายและมีบทบาทในการปกครองโรมัน ช่วงนี้การแต่งงานกลายเป็นสิ่งไม่ต้องห้าม ต่อมามีกฎหมายที่รองรับให้เพลเบียนมีบทบาทในการปกครองมากขึ้น มาตรการเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโรมไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสำเร็จบริบูรณ์ในปี 287 ก่อน ค.ศ.

การแผ่อำนาจของโรมนั้น มีทั้งการเป็นพันธมิตรและการทำสงครามกับพวกที่เป็นศัตรู อาณาจักรของโรมขยายตัวไปเรื่อย ๆ แต่ชาวโรมันมักจะใจกว้างต่อบรรดาชาติอิตาลีที่ตนเข้าปกครอง โดยยอมให้มีการปกครองตนเองมากพอสมควร จึงมักประสบความสำเร็จในการรักษาความสวามิภักดิ์ไว้ได้ ในเวลาต่อมาเมื่อพิสูจน์ว่าคนในปกครองจงรักภักดีก็จะยอมให้เป็นพลเมืองโรมัน ด้วยวิธีการนี้โรมจึงสามารถสร้างจักรวรรดิที่มีอายุยืนยาวกว่าจักรวรรดิเอเธนส์ของเพริเคลส เมื่อประมาณ 265 ก่อน ค.ศ. โรมอยู่ในฐานะที่ทัดเทียมกับคาร์เธจและนครรัฐทายาทของกรีก คือ เป็นหนึ่งในมหาอำนาจของทะเล เมดิเตอเรเนียน



สงครามพิวนิค (264 – 146 ก่อน ค.ศ.)

เมื่อโรมกับคาร์เธจเผชิญหน้ากัน ได้เกิดสงคราม 3 ครั้ง เรียกว่า สงครามพิวนิค (The Punic War, พิวนิคมาจากคำว่า โพเอนุส ในภาษาละติน ซึ่งเป็นคำเรียกพวกฟินิเชียหรือคาร์เธจ) สงครามพิวนิคครั้งแรกเกิดเมื่อ 246 – 241 ก่อน ค.ศ. ครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อ 218 – 201 ก่อน ค.ศ. สงครามสองครั้งแรกนี้กินเวลานานและรุนแรงมาก โรมพ่ายแพ้ในการรบหลายครั้ง แต่ก็อดทนจนได้ชัยชนะในการรบครั้งสุดท้ายเมื่อ 149 – 146 ก่อน ค.ศ. คาร์เธจเหลือแต่ซาก โรมได้ครองดินแดนอันกว้างใหญ่ของคาร์เธจในอาฟริกา ซิซิลี และ สเปน

ชัยชนะของโรมเหนือคาร์เธจ ยังผลให้โรมมีอำนาจเหนือรัฐอื่นในทะเลเมดิเตอเรเนียน บรรดาอาณาจักรกรีกเฮลเลนิสติคที่แก่งแย่งชิงดีกัน มักของความช่วยเหลือจากโรมให้ช่วยต่อต้านศัตรูของตน โรมให้ความสนับสนุนเพื่อรักษาดุลย์แห่งอำนาจ แต่ต่อมาโรมเข้าปกครองเสียเอง ระหว่างศตวรรษที่ 2 ก่อน ค.ศ. โลกเฮลเลนิสติคส่วนมากอยู่ภายใต้อำนาจโรมันทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อมา 189 ก่อน ค.ศ. โรมได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือพวกซีลูซีด และปราบปรามแมกซิโดเนียได้ในปี 148 ก่อน ค.ศ. และทำลายเมืองคอรินธ์ ในปี 146 ก่อน ค.ศ. โรมค่อย ๆ เปลี่ยนกรีซให้กลายเป็นมณฑลโรมันภายใต้การปกครองของข้าหลวงแห่งรัฐ อาณาจักรเฮลเลนิสติคที่เหลือไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะยอมรับความเป็น ผู้นำของโรมและค่อย ๆ กลายเป็นมณฑลของโรมไปในที่สุด

ในส่วนของโรมนั้น เมื่อเป็นใหญ่เหนือโลกทะเลเมดิเตอเรเนียน ได้เกิดปัญหาในการปรับตัวของรัฐบาลให้เหมาะสมกับการปกครองจักรวรรดิ



การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองระหว่างปี 246 – 146 ก่อน ค.ศ.

ช่วงระยะเวลาระหว่างสงครามพิวนิคทั้ง 3 ครั้ง ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโรม ส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงมาจากความเป็นมาในความมั่งคั่งร่ำรวย และความสำเร็จทางด้านการทหาร ซึ่งค่อย ๆ บ่อนทำลายคุณความดีดั้งเดิมของพลเมือง อีกนัยหนึ่งเมื่อโรมพิชิตกรีกนั้น โรมค่อย ๆ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโลกเฮลเลนิสติค ทั้งความฟุ่มเฟือยและความเป็นปัจเจกชนนิยมอย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้ได้กัดกร่อนความเป็นอนุรักษ์นิยม และการอุทิศตนเพื่อส่วนรวมของคนโรมัน แต่การสูญเสียของโรมก็ได้รับการทดแทนในเรื่องของวัฒนธรรมและภูมิปัญญา โรมได้รับหลักสโตอิคเกี่ยวกับเรื่องภราดรภาพสากลเป็นหลักปรัชญาที่เหมาะสมสำหรับจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ รัฐบุรุษโรมันหลายคนได้กลายเป็นพวกสโตอิค ส่วนทางด้านการเกษตรโรมได้รับเอาเทคนิคการเกษตรแบบเฮลเลนิสติคเข้ามาด้วย คือ การทำกสิกรรมขนาดใหญ่

การทำกสิกรรมขนาดใหญ่ หรือ “ลาติฟุนเดีย” เกิดขึ้นเนื่องจากการทำสงครามได้นำความมั่งคั่งและทาสจำนวนมากมาสู่ชาวโรมัน อิตาลีทางภาคกลาง และภาคใต้จึงเต็มไปด้วยผืนนาขนาดใหญ่เข้าแทนที่นาอิสระเล็ก ๆ นาอิสระเล็ก ๆ จะผลิตข้าวชนิดต่าง ๆ ส่วนลาติฟุนเดียมุ่งผลิตพืชผลที่ค้ากำไร เช่น องุ่น เพื่อทำเหล้า มะกอกเพื่อทำน้ำมันมะกอก รวมทั้งเลี้ยงแกะ ชาวนาเล็ก ๆ นั้น เมื่อถูกเกณฑ์ทหารบ่อยเข้า ได้ขายที่นาแก่เจ้าของลาติฟุนเดีย และในที่สุดต้องอพยพเข้าเมืองไปอยู่ตามเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะในกรุงโรม ต่อมาคนอพยพที่ว่างงานเหล่านี้จะก่อความไม่สงบหลายครั้ง จนทำให้รัฐบาลหวาดเกรงและใช้นโยบายให้อาหารตลอดจนการบันเทิงโดยไม่คิดมูลค่า จนเป็นการเพาะนิสัยว่าจะต้องได้ “ขนมปังและละครสัตว์”

ในขณะที่โรมต่อสู่กับคาร์เธจนั้น การค้าที่เติบโตขึ้นทำให้เกิดชนชั้นใหม่คือนักธุรกิจและผู้รับเหมางานสาธารณประโยชน์ เมื่อพวกนี้มั่งคั่งขึ้นจะกลายเป็นคู่แข่งของขุนนางสมาชิกสภาเซเนทเจ้าของที่ดิน ชนชั้นใหม่นี้เรียกว่า อัศวิน หรือ “ผู้ขี่ม้า” เพราะพวกนี้สามารถรับราชการในกองทัพโดยเป็นทหารม้ามากกว่าทหารราบ ชนชั้นขี่ม้านี้ปกติจะไม่สนใจการเมืองนอกจากเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของตน ชัยชนะทางทหารและการติดต่อกับโลกเฮลเลนิสติค ทำให้พวกขุนนางเจ้าที่ดินและชนชั้นขี่ม้ามีความเป็นอยู่ที่ร่ำรวยฟุ่มเฟือย ช่วงระหว่างคนรวยกับคนจนก็ขยายกว้างไปเรื่อย ๆ แรงกดดันความไม่สงบในสังคมเริ่มคุกคามเสถียรภาพของสังคมโรมัน

ข้าหลวงและขุนนางโรมันในสมัยนี้ปกครองแบบไม่ยุติธรรมซึ่งต่างจากในสมัยแรก มีการขูดรีดประชาชนประชาชนเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งเป็นส่วนตัว การฉ้อราษฎร์บังหลวงนี้ได้รับการลงโทษสถานเบาเพราะผู้พิพากษาบางคนลังเลใจที่จะลงโทษขุนนางชั้นเดียวกับตน และบางคนก็รับสินบน



ความรุนแรงและการปฏิวัติในศตวรรษสุดท้ายของสาธารณรัฐ (133 – 30 ปี ก่อน ค.ศ.)

ท่ามกลางปัญหานั้นได้มีความพยายามที่จะปฏิรูปไทบีเรียส และไกอุส สองพี่น้อง สกุลราสชุส พยายามดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน ทั้งสองเคยรับราชการในตำแหน่งทรีบูน แต่ความพยายามของเขาล้มเหลว ตัวของทั้งคู่ถูกฆาตกรรม ไทบีเรียสในปี 133 ก่อน ค.ศ. และไกอุส ในปี 121 ก่อน ค.ศ.

หลังจากนั้นได้มีความพยายามของมวลชนและชนชั้นขี่ม้าที่จะสู้กับพวกสภาเซเนท บรรดาบุคคลทั้งหลายต่างพยายามแสวงหาทางใช้อาชีพทหารในการไต่เต้าขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง ผู้บัญชาการทหารมักจะสู้กันเพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่ทางการเมือง เช่น ซุลลากับมาริคุส กองทหารโรมันเวลานี้กลายเป็นหนทางสู่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กองทัพมีท่าทีว่าจะเป็นทหารอาชีพและทหารเริ่มอยู่ใต้ผู้บังคับบัญชามากกว่าอยู่ใต้รัฐ ในปี 83 ก่อน ค.ศ. ซุลลาได้ยึดอำนาจและตั้งตนเป็นผู้เผด็จการ หลังจากได้ออกกฎหมายเพื่อเสริมอำนาจให้กับสภาเซเนทแล้วเขาก็ปลดเกษียณ ใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างสบบายในคฤหาสน์นอกเมืองที่คัมปาเนีย

ในช่วงทศวรรษที่ 60 ก่อน ค.ศ. ซิเซโร นักปรัชญาการเมืองและนักวาทศิลป์ พยายามรวมสภาเซเนทและชนชั้นขี่ม้าเข้าด้วยกันเพื่อต่อต้านการคุกคามที่รุนแรงขึ้นทั้งของพวกนายพลและมวลชน แต่ซิเซโรไม่ประสบผลสำเร็จด้วยความด้อยสมรรถภาพของสภาเซเนทเอง ผู้นำทางการทหารเด่น ๆ เช่น ปอมเปอี จูเลียส ซีซาร์ ต่างพยายามหาความสนับสนุนจากชนชั้นต่ำ สาธารณรัฐใกล้จะเสื่อมสลายลงไป แต่ก็มีระบอบใหม่ที่ช่วยให้โรมดำรงความยิ่งใหญ่ต่อไปได้ คือ ระบอบปรินซ์ซิเปต



ระบอบปรินช์ซิเปต

เมื่อซีซาร์ประสบการต่อต้านจากซิเซโร ได้หันไปเป็นพันธมิตรกับปอมเปอี และกราซุส เศรษฐีผู้ทะเยอทะยาน บุคคลทั้งสามรวมตัวกันเป็นกลุ่มเหนือกฎหมายที่เรียกว่า “คณะสามผู้นำชุดแรก”

ขณะที่ซีซาร์เดินทางไปรบที่กอล ปอมเปอีและสภาเซเนทร่วมมือกันต่อต้านซีซาร์และกล่าวหาว่าเขาเป็นศัตรูของประชาชน ซีซาร์ยกทัพกลับมาเอาชนะได้ ปอมเปอีหนีไปอียิปต์และถูกมาตกรรมที่นั่น ซีซาร์กลายเป็นผู้เผด็จการ ซึ่งในที่สุดบังคับให้สภาเซเนทมอบอำนาจผู้เผด็จการตลอดชีพให้เขา นอกจากนี้ ยังได้รับตำแหน่งผู้พิทักษ์ทรีบูน รวมทั้งตำแหน่งอื่น ๆ เช่น ตำแหน่ง ปอนนีเฟ็กซ์ แม็กซิมุส (อัครสังฆราช) ในปี 44 ก่อน ค.ศ. เขาได้รับการบูชาเยี่ยงเทพเจ้า

ซีซาร์ใช้อำนาจเผด็จการปฏิรูปสาธารณรัฐทั้งรัฐบาลส่วนกลางและภูมิภาค เขาจัดตั้งอาณานิคมเป็นจำนวนมากเพื่อลดจำนวนคนว่างงาน การปฏิรูปของซีซาร์ทำให้เกิดผลดีต่อประชาชนจักรวรรดิโรมัน แต่เขาดำเนินการกว้างขวางและรวดเร็วเกินไปทำให้เกิดความหวั่นเกรงในสภาเซเนท จนทำให้เขาถูกฆาตกรรม โดยพวกสภาเซเนทหัวอนุรักษ์นิยม เมื่อ 44 ปี ก่อน ค.ศ.

เมื่อซีซาร์ถูกฆาตกรรมได้เกิดการแย่งชิงอำนาจต่อมาอีก 14 ปี ในท้ายที่สุด อ๊อคเตเวียน ผู้เป็นหลานและบุตรบุญธรรมของซีซาร์ได้ชัยชนะ อ๊อคเตเวียน หรือ ออกุสตุส เปลี่ยนโรมจากสาธารณรัฐเป็นจักรวรรดิได้สำเร็จ โดยได้รับการยอมรับจากสภาเซเนท



ยุคของออกุสตุส

ในปี 31 ก่อน ค.ศ. กำลังทางทหารของอ๊อคเตเวียน ทำลายล้างกำลังของ มาร์ค แอนโทนีและคลีโอพัตราที่อัคตีอุม ถัดจากนั้นอีกปีหนึ่ง อ๊อคเตเวียนยาตราทัพเข้าสู่อเลกซานเดรียในฐานะประมุขของดินแดนในทะเลเมดิเตอเรเนียน

อ๊อคเตเวียนปฏิรูปโรมอย่างสมบูรณ์ เขายึดถือว่าความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่การพิชิตแต่อยู่ที่การเสริมสร้าง อ๊อคเตเวียนครองตำแหน่งสำคัญ ๆ และคุมกองทัพเช่นเดียวกับซีซาร์ เช่น ตำแหน่งพรินเซบส์ (Princeps) หรือพลเมืองโรมันคนที่หนึ่ง ในปี 27 ก่อน ค.ศ. เขาได้รับชื่อใหม่ว่า “ออกุสตุส” ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับการเคารพนับถือระบบการปกครองที่ใช้ คือ ระบอบพรินซิเพท ออกุสตุสใช้ชีวิตที่ง่าย ๆ ไม่ฟุ้งเฟ้อ ยกย่องเกียรติภูมิของเซเนท เขาปกครองโดยรู้สำนึกถึงความคิดเห็นของประชาชนและสภาเซเนท ตลอดจนเคารพจารีต ประเพณี แต่ออกุสตุสก็เป็นเจ้าเหนือหัวที่แท้จริงของโรม ออกุสตุสให้สันติภาพความมั่นคงปลอดภัย ความเจริญรุ่งเรือง และความยุติธรรมรวมทั้งนโยบาย “อาชีพ เปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถ” ความเป็นผู้นำของเขากระตุ้นให้เกิดการมองโลกในแง่ดี ความรักชาติ และการริเริ่มสร้างสรรค์ในด้านศิลปกรรมและวรรณกรรม ยุคนี้เป็นจุดสุดยอดของความเป็นเลิศในเชิงสร้างสรรค์ของโรมและได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคทอง



ผู้นำจักรวรรดิหลังยุคออกุสตุส

ออกุสตุสสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 14 เมื่อมีพระชนม์ได้ 76 พรรษา หลังจากนั้นพรินซิเพท (คือรัฐบาลของพรินเซบส์) รวมศูนย์มากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ระบบราชการขยายตัว และการปกครองส่วนภูมิภาคดำเนินไปด้วยดี อัตราภาษีต่ำและการจัดเก็บมีการประเมินอย่างดี กฎหมายมีมนุษยธรรมมากขึ้น พสกนิกรที่อยู่ห่างไกลได้รับความเจริญรุ่งเรืองและมีสันติสุขอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วยพระปรีชาญาณของออกุสตุส

ในศตวรรษที่ 2 มีการปรับปรุงคุณภาพผู้นำจักรวรรดิ ผู้ปกครองโรมระหว่าง ค.ศ. 96 – 180 ได้สมญาว่า “จักรพรรดิที่ดี 5 องค์” คือ เนอร์วา ทราจัน เฮเดรียน แอนโตนินุส และ มาร์คุส ออเรลิอุส ลักษณะเด่น คือ จักรพรรดิมีความคิด และรับผิดชอบต่อทุกข์ – สุข ของจักรวรรดิ มีการปกครองที่เป็นธรรม รักษาความสงบสุขของพลเมือง ส่งเสริมความก้าวหน้าทางวัตถุและการป้องกันพรมแดนจากการรุกราน จักรพรรดิแต่ละองค์จะไม่ใช้หลักการสืบสันตติวงศ์ทางสายเลือด แต่จะรับชายหนุ่มที่มีความสามารถดีเด่นมาเป็น โอรสบุญธรรมและผู้สืบราชบัลลังก์ (แม้ว่าในทางทฤษฎี สภาเซเนท จะเลือกพรินเซบส์) เมื่อ มาร์คุล ออเรลิอุส จงใจเลือกโอรสคือ คอมโมดุสผู้ไร้ความสามารถขึ้นเป็นจักรพรรดิ ทำให้ยุคที่ยิ่งใหญ่ของความเป็นจักรพรรดิที่ดีสิ้นสุดลง

จักรวรรดิโรมันภายใตต้ระบบพรินซิเพทนี้นับตั้งแต่การเถลิงอำนาจของออกุสตุสจนถึงมาร์คุส ออเรลิอุสนั้นได้ครอบครองดินแดนขนาดใหญ่ ภาระในการป้องกันพรมแดนอันยาวเหยียดตกอยู่กับกองทัพที่ได้รับการฝึกอย่างดี การคมนาคมภายในนั้นมีถนนหนทางที่ดีเยี่ยมซึ่งเชื่อมโรมเข้ากับแคว้นต่าง ๆ เส้นทางการค้าทางทะเลก็ได้รับความคุ้มครองจากกองทัพเรือโรมัน ระยะเวลา 2 ศตวรรษแห่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่สมัยออกุสตุสจนถึง มาร์คุส ออเรลิอุส ได้รับสมญาว่า PAX ROMANA หรือสันติภาพโรมัน

ภายใต้การพิทักษ์ของสันติภาพโรมัน ความรุ่งเรืองทางการค้า สถาบันโรมันและวัฒนธรรมคลาสสิคได้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวางทั่วจักรวรรดิโรมัน เมื่อแคว้นที่อยู่ห่างไกลมีความเป็นโรมันมากขึ้น ความหมายของ “โรม” และ “โรมัน” ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปจากประชาชนในดินแดนส่วนใหญ่ของอิตาลี ไปจนถึงแคว้นต่าง ๆ ที่ได้สัญชาติโรมันด้วย

โรมันได้พัฒนาเมืองเป็นหน่วยหลักในการปกครอง บางเมืองสามารถพัฒนาตนเองเป็นศูนย์กลางการค้าและหัตถกรรม แต่บางเมืองไม่อาจพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้ ส่วนใหญ่เมืองทางตะวันออกจะเจริญทางด้านการค้า และมีอุตสาหกรรมพื้นเมืองขนาดย่อมในตัวเมือง แต่เศรษฐกิจหลักโดยส่วนรวมของโรมัน คือ เกษตรกรรม ทาส จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเป็นแรงงาน อย่างไรก็ตามสังคมโรมันรวมถึงชาวนาที่ยากจนและยาจกที่อดอยากเสมอ



ยุคเงิน

ช่วงประมาณระหว่างการสิ้นพระชนม์ของออกุสตุส และมาร์คคุส ออเรลิอุส เป็นที่รู้จักกันว่ายุคเงิน แม้จะไม่รุ่งโรจน์เท่ายุคทองของออกุสตุส แต่ก็สร้างสรรค์ความสำเร็จทางด้านวรรณกรรม ภูมิปัญญา และศิลปกรรมในระดับเยี่ยม วัฒนธรรมและวิทยาการของยุคนี้ได้แพร่หลายออกสู่ภายนอกและภาคใต้ จำนวนผู้อ่านออกเขียนได้ก็เพิ่มมากขึ้นตลอดทั่วจักรวรรดิ

อเลกซานเดรียเองความสำคัญในฐานะนครแห่งการค้าและภูมิปัญญาตลอดช่วงสมัยพรินซิเพท ความสำเร็จในทางภูมิปัญญา มีทั้งเทววิทยาแบบคริสตศาสนา ความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ ดาราศาสตร์ จักรวาลวิทยา ภูมิศาสตร์ ชีววิทยา และการแพทย์

นอกจากนี้ปรัชญาสโตอิคก็รุ่งเรือง งานเขียนเรื่อง “ความคิดคำนึง” ของจักรวรรดิมาร์คุส ออเรลิอุส เป็นความพยายามแสดงออกซึ่งปรัชญาสโตอิค ที่ทำให้แนวความคิดที่ดีที่สุดของยุคลึกซึ้งและมีเมตตาธรรมเป็นอันมาก



กฎหมายโรมัน

ในบรรดาความสำเร็จทั้งหลายในยุคเงิน พัฒนาการทางกฏหมายดูจะเด่นสุด กฎหมายสิบสองโต๊ะ ค่อย ๆ พัฒนาจนกลายเป็นประมวลกฎหมายที่เหมาะสำหรับจักรวรรดิกว้างใหญ่และฝูงชนที่มีความแตกต่างกับบรรดาบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย รวมทั้งจักรพรรดิได้มีส่วนในการพัฒนากฎหมายของตน และได้รับอิทธิพลจากแนวคิดปรัชญาของกรีก เกี่ยวกับ จุส นาตูราล หรือ “กฎแห่งธรรมชาติ” เกณฑ์ดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมทางการเมืองและสังคม ทำให้กฎหมายของจักรวรรดิมีเหตุผลและให้ความยุติธรรม ถือว่ากฎหมายโรมันนั้นเป็นมรดกที่สำคัญยิ่ง คือ เป็นพื้นฐานของระบบกฎหมายทั้งหลายในยุโรป ปัจจุบันตลอดจนบรรดาอดีตอาณานิคมของยุโรปด้วย



ศาสนาโรมัน

โรมมีเทพเจ้าประจำชาติ แต่ด้วยขันติธรรมทางศาสนา ลัทธิบูชาต่าง ๆ จึงอยู่ได้ในโรมัน บุคคลหนึ่งสามารถนับถือได้หลายลัทธิ สมัยพรินซิเพทเกิดลัทธิบูชาจักรพรรดิ (Cult of Emperor) จักรพรรดิออกุสตุสได้รับการยกย่องบูชาโดยถือเป็นเทพ ลัทธินี้กลายเป็นพิธีกรรมประจำชาติอย่างเป็นทางการเพื่อปลุกใจให้รักชาติมากกว่าเป็นเรื่องทางศาสนา สำหรับชาวยิวและคริสต์แล้วไม่เกี่ยวกับพิธีกรรมดังกล่าวเพราะขัดกับหลักคำสอนทางศาสนา

สมัยออกุสตุส ชาวโรมันเริ่มบูชาเทพเจ้าจากทางตะวันออกในแนวของการไถ่บาปในโลกหน้าเช่น บูชาเทพไอซีสของอียิปต์ เทพมิทราของเปอร์เชีย ฯลฯ ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่าเป็นลัทธิหัสยนิยม ลัทธิเหล่านี้ก่อให้เกิดลัทธิสากลนิยมและอัตตาธิปไตยที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ก็มีลัทธิเปลโต้ใหม่ (Neo – platoism) โพลตินุสเป็นนักปรัชญาของลัทธินี้ได้เผยแพร่การบูชาเทพองค์เดียวผู้ทรงอนันตภาพไม่มีขอบเขต ลัทธินี้ต่อมาได้สังเคราะห์แก่นสำคัญของลัทธินอกศาสนาอื่น ๆ เข้ามาด้วย

บรรยากาศของลัทธิศาสนาแบบต่าง ๆ นี้ มีผลให้ลัทธิเหตุผลนิยมและมนุษยนิยมของกรีกถูกกลืนเกือบหมดสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นจากลัทธิใหม่ ๆ เหล่านี้คือ โหราศาสตร์ เวทย์มนต์ การหลอกลวงและพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งครอบงำคนมากย่องกว่าในสังคมกรีก ท่ามกลางบรรยากาศเหล่านี้ คริสตศาสนาได้เกิดขึ้นและได้ชัยชนะเหนือจิตใจประชาชน



คริสตศาสนาในจักรวรรดิโรมัน

คริสตศาสนามีลักษณะที่นำเอาความเชื่อจากลัทธิที่มีมาก่อนมาจัดรวมกัน เช่น แนวความคิดเรื่องความตายและการฟื้นคืนชีพ อย่างไรก็ตามได้มีพื้นฐานต่างจากศาสนาอื่น ๆ อย่างน้อย 2 ประการ คือ ประการแรก คริสตศาสนามีพระเจ้าเพียงองค์เดียว ประการที่สอง พระเยซูนั้นถือเป็นพระผู้ไถ่บาป และเป็นบุคคลในคำพยากรณ์ของศาสนาฮิบรู ทรงเป็นบุคคลร่วมสมัยกับออกุสตุส แต่พระชนม์น้อยกว่า พระเยซูมีปาฏิหาริย์ต่าง ๆ และหลักคำสอนของพระองค์เน้นความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และการอ่อนน้อมถ่อมตน การดำรงชีวิตอย่างมีสติ มีเมตตากรุณาต่อเพื่อนและศัตรู พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่คนจนและผู้ทอดทิ้ง

การที่พระเยซูทรงวิจารณ์ข้อบกพร่องทางศีลธรรมของบรรดาพระในศาสนายิวผสมกับการที่ทรงอ้างว่าตรัสในนามของพระเจ้า มีผลให้ทรงถูกตรึงกางเขนในฐานะผู้พยายามโค่นล้มระบบการปกครอง

นักบุญปอลอัครสาวกสามารถใส่ความคิดเรื่องภราดรภาพสากลเข้าในศาสนาคริสต์ได้สำเร็จ ทำให้ศาสนาคริสต์แพร่ไปได้มาก มิชชันนารีอื่น ๆ รวมทั้งนักบุญปีเตอร์และอัครสาวกองค์อื่น ๆ ต่างพากันเดินทางจาริกเผยแพร่ศาสนาและรวบรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรทางศาสนาขึ้น

เอกสารทางประวัติศาสตร์ของชาวคริสต์เริ่มมีมากในคริสตศตวรรษที่ 2 และ 3 องค์กรทางศาสนาก็เริ่มเด่นชัดกว่าเดิม มีการจัดลำดับสงฆ์เป็นหลายชั้นลดหลั่นกันลงมา อัครสังฆราชที่อยู่ประจำตามมหานครมีความสำคัญเป็นพิเศษ เช่น ที่โรม อเลกซานเดรีย แอนติออค และต่อมาที่กรุงคอนแสตนติโนเปิลด้วย เมื่อเวลาผ่านไป อัครสังฆราชที่โรมได้รับการยกย่องมากขึ้นจนสูงกว่าองค์อื่น ๆ

แนวความคิดของคริสตศาสนาได้รับการพัฒนาให้ลึกซึ้งตามแนวปรัชญาต่าง ๆ ของกรีกและยิว เช่น ของเปลโต้ สโตอิค และพระคัมภีร์เก่าของยิว แนวความคิดที่ได้รับการตีความเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นพื้นฐานให้กับนิกายออร์ธอดอกซ์ อย่างไรก็ตามได้ทำให้คริสตศาสนามีความหมาย และดึงดูดใจปัญญาชนมากขึ้น

การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในจักรวรรดิโรมันเป็นไปอย่างรวดเร็ว คำสอนและทางรอดในคริสตศาสนาสอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกของยุค คริสตศาสนาได้รับเอามรดกของวัฒนธรรมโรมในเรื่ององค์กรทางการเมืองและกฎหมายมาใช้ รูปแบบองค์กรของศาสนาคริสต์ในยุคกลางเหมือนกับระบอบการปกครองของจักรวรรดิโรมันนั่นเอง

ในระยะแรก คริสตศาสนิกชนมักตกเป็นเป้าความเกลียดชัง ระแวงสงสัย เพราะการปฏิเสธศาสนาอื่น และไม่ยอมรับนับถือเทพเจ้าของรัฐ ในบางช่วงคริสตศาสนิกชนจึงโดนกวาดล้างขนานใหญ่ เป็นช่วง ๆ แต่ศาสนาคริสต์ก็เผยแพร่ไปไม่หยุดยั้ง แต่เมื่อถึงต้นคริสศตวรรษที่ 4 ศาสนาคริสต์ก็เติบโตเกินกว่าจะทำลายล้างได้แล้ว จักรพรรดิโรมันได้หันมาประนีประนอมกับคริสตศาสนา จักรพรรดิคอนแสตนตินเป็นจักรพรรดิโรมันองค์แรกที่นับถือคริสตศาสนา และเมื่อสิ้นคริสตศตวรรษที่ 4 ประชาชนส่วนใหญ่ก็หันมานับถือคริสต์



โดมิเนท

หลังจากสมัยจักรพรรดิที่ดี 5 พระองค์แล้ว การปกครองที่ไร้ความสามารถของคอมโมดุส (ค.ศ. 180 – 192) ทำให้จักรวรรดิเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย เป็นศตวรรษแห่งเผด็จการทหาร การฆาตกรรมความทรุดโทรมทางเศรษฐกิจและการบริหาร ความผุกร่อนทางวัฒนธรรมและกลียุค

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่สงบในยุคนี้คือปัญหาเรื่องการสืบราชบัลลังก์ นอกจากนี้ยังเกิดโรคระบาด คือกาฬโรค ซึ่งเกิดขึ้นนานเป็นชั่วอายุคน ทำให้ผู้คนล้มตายมาก ทั้งยังประสบกับการรุกรานของอารยชนเยอรมันที่ข้ามพรมแดนแม่น้ำไรน์และดานูบ มาจนถึงอิตาลี ระบบราชการและกองทัพทำให้ต้องเก็บภาษีเพิ่ม ชาวเมืองและชาวชนบทต่างก็หลีกหนีภาษี แต่ละเมืองขอความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากจักรพรรดิทีละเมือง ซึ่งโดยปกติแล้ว นครโรมันหลายแห่งก็เลี้ยงตัวเองไม่ได้อยู่แล้ว เมื่อมาประสบภาวะการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นประกอบกับภาวะเศรษฐกิจภายในจักรวรรดิที่หยุดนิ่ง ทำให้เศรษฐกิจเริ่มทรุดลง ชาวนาทิ้งไร่นา ชนชั้นกลางถูกขูดรีดภาษีอย่างหนักจึงพากันทิ้งเมือง คนที่ยังทำงานอยู่ก็ถูกขูดรีดภาษีหนักขึ้น จักรวรรดิเต็มไปด้วยขอทานและโจรผู้ร้าย สภาพการทางด้านตะวันตกหนักกว่าด้านตะวันออก เพราะศูนย์กลางอุตสาหกรรมอยู่ทางตะวันออก ช่วงระยะทศวรรษ ค.ศ. 260 เป็นระยะที่เศรษฐกิจโรมันต่ำถึงขีดสุดและอนารยชนได้บุกข้ามชายแดนมาทางตะวันออก ขณะนั้นมีจักรพรรดิบางพระองค์พยายามป้องกันรัฐโรมันอย่างสุดความสามารถ ในจำนวนนั้น จักรพรรดิไดโอเคลเตียน (ค.ศ. 284 – 305) และคอนแสตนติน (306 – 337) ได้ใช้อำนาจเอกาธิปไตยอย่างเด็ดขาด จักรพรรดิมิได้เป็นพรินเซปส์ แต่เป็น โดมินุสเอต เดอุส เจ้าผู้ครองนครและเทพเจ้าจึงเรียกยุคการปกครองแบบนี้ว่า “โดมิเนท”

ไดโอเคลเตียนได้แบ่งจักรวรรดิออกเป็น 2 ส่วน คือ ตะวันตกและตะวันออก มีจักรพรรดิสองพระองค์ องค์หนึ่งประทับอยู่ทางตะวันตก อีกองค์หนึ่งทางด้านตะวันออก ทั้งสองพระองค์จะทรงร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอดร่มเย็นและช่วยกันป้องกันประเทศ ทั้งสองพระองค์มีตำแหน่งเรียกว่า ออกุสตุส และมีผู้ช่วยเรียกว่า ซีซาร์ ซึ่งจะช่วยปกครองและสืบทอดตำแหน่งของออกุสตุสในที่สุด ทรงแยกอำนาจพลเรือนออกจากทหาร และปฏิรูปกองทัพให้จักรพรรดิคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สภาเซเนทกลายเป็นเครื่องประดับบารมี และสำหรับปัญหาเศรษฐกิจแก้โดยออกพระราชกฤษฏีกาให้ชาวไร่ชาวนา ช่างฝีมือและพ่อค้าทำงานนั้น ๆ โดยการสืบสกุล และออกมาตรฐานกำหนดราคาสินค้า



ความเสื่อมของจักรวรรดิตะวันตก

สาเหตุที่ทำให้จักรวรรดิโรมันตะวันตกเสื่อมนั้น มีมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 3 ในเรื่องเศรษฐกิจสังคม รวมทั้งความวุ่นวายทางการเมือง การฟื้นตัวของจักรวรรดิในสมัยจักรพรรดิไดโอเคลเตียน และคอนแสตนตินนั้น เป็นการฟื้นตัวบางส่วนและเป็นไปเพียงชั่วคราว รัฐโรมันทางตะวันตกมีปัญหามากกว่าทางด้านตะวันออก เศรษฐกิจโรมันเสื่อมสลาย ชนชั้นกลางก็หมดศรัทธาและกำลังใจที่จะร่วมมือกับรัฐ รัฐโรมันกลายเป็นเผด็จการ มีตำรวจคอยสอดส่องอิสรภาพของประชาชน คนในเมืองมักทิ้งเคหสถานและกิจการในเมืองไปอยู่ในที่ดินของตนนอกเมือง แล้วรวบรวมกองทหารส่วนตัวไว้ต่อต้านไม่ยอมจ่ายภาษีให้รัฐชนชั้นสูงที่พากันหลบหนีออกจากเมืองได้กลายเป็นชนชั้นกสิกรต่อมา ระบบ เจ้าขุนมูลนายชนบทของยุคกลางได้เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ การขาดแคลนกำลังคน ทำให้กองทัพและรัฐบาลต้องรับอนารยชนเผ่าเยอรมันเข้ามา

นับแต่กลางปี ค.ศ. 370 จักรวรรดิโรมันเผชิญกับการรุกรานของอนารยชนเยอรมันครั้งใหญ่เพราะพวกฮั่นรุกไล่อนารยชนเผ่าเยอรมัน พวกวิซิกอธเข้ามาอาศัยในจักรวรรดิ ต่อมาได้ก่อความไม่สงบ และปล้นสะดมหลายครั้ง ที่สำคัญคือการปล้นกรุงโรม ค.ศ. 410 ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 430 พวกแวนดัลยึดครองนครฮิบโปสุดท้ายใน ค.ศ. 476 นายพลเผ่าเยอรมันผู้อยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์ก็ได้ถอดจักรพรรดิองค์สุดท้ายออก และปกครองโรมเสียเอง เผ่าเยอรมันได้ตั้งอาณาจักรขึ้นทางตะวันตก อย่างไรก็ดีสันตะปาปาแห่งโรมเริ่มมีบทบาทที่อิสระมากขึ้น และมีความสำคัญมากขึ้นในสังคมยุโรป พระสันตะปาปาลีโอที่ 1 (ค.ศ. 440 – 461) และผู้สืบต่อจากพระองค์ ประกาศว่าตำแหน่งสันตะปาปาทรงอำนาจสูงสุดทางศาสนา และศาสนาย่อมอยู่เหนือรัฐทางจิตใจ ซึ่งจะมีผลต่อมาในยุคกลาง

ขณะที่จักรวรรดิโรมันตะวันตกสลายตัวนั้น จักรวรรดิโรมันตะวันออกยังดำรงอยู่ต่อไปจนถึง ค.ศ. 1453

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น